วงเสวนาตีแผ่ปัญหาสุขภาพชาวสวนยาง 1.6 ล้านครัวเรือน พบวิถีชีวิตเสี่ยงสารเคมีทุกขั้นตอน ทำงานตั้งแต่ตี 2 ส่งผลต่อสายตา กล้ามเนื้อ สัตว์มีพิษ
นายกำราบ พานทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อสุขภาวะ เปิดเผยในเวทีเสวนาหัวข้อ "สุขภาวะชาวสวนยาง" ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2560 ตอนหนึ่งว่า ปัญหาสุขภาวะที่ชัดเจนของชาวสวนยางขณะนี้คืออายุขัยที่น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มชาวสวนยางขนาดเล็กหรือคนกรีดยาง เนื่องจากสาเหตุความทรุดโทรมของร่างกาย ซึ่งตรงกับงานวิจัยหลายชิ้นที่มีรองรับออกมา
นายกำราบ กล่าวว่า วิถีของชาวสวนยางขนาดเล็กหรือคนกรีดยางทำให้ร่างกายทรุดโทรม นั่นเพราะวิถีคนกรีดยางสัมพันธ์กับสารเคมีหลายตัว ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มโค่น ปลูก กรีด ไปจนถึงขั้นการแปรรูปยาง นอกจากนี้ยังถูกรุกรานจากการพักผ่อนน้อย จากปัญหาภาวะที่ต้องทุรนทุรายหาเงินมากขึ้น โดยสิ่งที่หนักหนาที่สุดคือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน สุดท้ายต้องหันไปพึ่งพาเงินนอกระบบ และเกิดเป็นวงจรหนี้สิน ซึ่งนับเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสที่สุด
นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า คนกรีดยางในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัวสูงถึง 70% โรคที่พบมากที่สุดคือภูมิแพ้ รองลงมาคือเบาหวาน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี
นอกจากนี้ หากลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า คนกรีดยาง 1 คน กรีดยางเฉลี่ย 15 ไร่ ดังนั้นในเวลา 1 วัน จะมีการกรีดกว่า 1,200 ครั้ง และจะต้องเดินในสวนยางราวๆ 7 กิโลเมตร นั่นหมายถึงกล้ามเนื้อและสายตาที่ถูกใช้ไปอย่างหนักหน่วง ยังไม่นับการหายใจท่ามกลางอากาศที่มีออกซิเจนต่ำในช่วงเวลากลางคืน และภัยจากสัตว์มีพิษ เช่น งู หรือตะขาบ
นายสุวิทย์ ทองหอม ที่ปรึกษาเครือข่ายคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย จ.พัทลุง กล่าวว่า ชาวสวนยางรายย่อยและคนกรีดยางคือกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งมานานไม่น้อยกว่า 70-80 ปี จนในที่สุดก็ได้มี พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่ผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้มีตัวตนขึ้นมา ยกระดับเป็นเกษตรกรตามกฎหมาย แต่พอมีแล้วกลับปรากฏว่า กยท.ได้กำหนดระเบียบเกินเลยกว่าที่กฎหมายกำหนด และถูกจำกัดสิทธิเหมือนเดิม
"กยท.ได้กำหนดระเบียบการขึ้นทะเบียนโดยต้องใช้เอกสารสิทธิในที่ดิน ทั้งที่กฎหมายได้นิยามไว้แค่ให้เป็นคนที่มีผลผลิตจากการกรีดยางเท่านั้น สุดท้ายคนเหล่านี้ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนด แต่ถูกเก็บค่าธรรมเนียมเท่าเดิมเพื่อนำเงินไปบำรุงบำเรออีกกลุ่ม กลุ่มนี้จ่ายฟรี สุดท้ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติออกมาให้ กยท.ดำเนินการให้ถูกต้อง แต่วันนี้ยังคงไม่ได้รับแก้ไข" นายสุวิทย์ กล่าว
อนึ่ง ด้วยสภาพอากาศและภูมิประเทศอันเหมาะสม ทำให้ประเทศไทยยืนอยู่แถวหน้าในฐานะผู้ผลิตและส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก อุตสหกรรมยางพาราได้หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.6 ล้านครัวเรือน หรือราวๆ 6 ล้านชีวิต
ขอบคุณภาพจากไทยรัฐ
- 793 views