เครือข่ายงดเหล้า-เหยื่อน้ำเมา หนุน สธ.เจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุทุกราย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ ปิดช่องโหว่คนหัวหมอวิ่งเต้นขอเคลียร์คดี พร้อมให้กำลังใจกระทรวงสู้ธุรกิจน้ำเมา ที่ขอแก้กฎหมายให้ตัวเองขายสุราได้อย่างเสรี

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผ่านทาง นพ.โสภณ เมฆธน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนมาตรการเจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุทุกราย ทั้งนี้เครือข่ายฯ ยังให้กำลังใจกระทรวงสาธารณสุข ยืนหยัดตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551หลังมีกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วิ่งเต้นขอแก้กฎหมาย เพื่อเปิดทางให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างเสรีมากขึ้น

เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ มาเพื่อต้องการสนับสนุนภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงสนับสนุนมาตรการเจาะเลือดเพื่อวัดปริมาณแอลกอฮอล์กับผู้ประสบอุบัติเหตุจราจรทางถนนทุกราย เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาหลายรายไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และใช้ช่องว่างของกฎหมายที่จะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ตรวจ เพราะฐานโทษความผิดจะสูงกว่า โดยหากทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีโทษจำคุกสูงสุด10 ปี ปรับสูงสุด 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลมีสิทธิ์พักหรือถอนใบอนุญาตขับรถได้

อีกทั้งช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สธ.มีนโยบายนำร่องสนับสนุนให้สถานพยาบาลของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนน โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งหนังสือมาที่สถานพยาบาลเพื่อเจาะเลือดส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ หากพบว่า ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าเมาสุรา

“มาตรการดังกล่าวถือว่ามีความก้าวหน้าในทางนโยบาย ส่งผลต่อการป้องปรามผู้ขับขี่และลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วยถ่วงดุลการทำงานระหว่างสาธารณสุขและตำรวจ หลังพบพวกหัวหมอเมาแล้วขับแต่ไม่ยอมเป่า กลับพยายามวิ่งเต้นขอเคลียร์ผู้ใหญ่ เชื่อว่ามาตรการนี้จะปิดช่องตำรวจชั้นผู้น้อยถูกขอจากกรณีเมาแล้วขับได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่าที่มีความพยายามของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วิ่งเต้นขอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เพียงเพื่อให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค้าขายได้มากขึ้นมอมเมาได้มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายฯ ที่พยายามลดผลกระทบ ลดความสูญเสียจากน้ำเมา” เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว

สำหรับจุดยืนและข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขดังนี้

1.ขอสนับสนุนมาตรการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนทุกราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และควรเป็นมาตรการที่ดำเนินการตลอดทั้งปี กำหนดงบประมาณและแนวปฏิบัติงานให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง ที่สำคัญข้อมูลที่ได้จะยืนยันถึงความสูญเสียในอุบัติเหตุจราจรทางบก ซึ่งมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้ปัญหาให้ตรงจุด

2.ขอให้กำลังใจกระทรวงสาธารณสุขยืนหยัดตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไม่โอนอ่อนตามแรงกดดันของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำลังพยายามวิ่งเต้นให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพียงเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเอง และขอให้กำลังใจในการทำหน้าที่ลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเต็มกำลัง

และ 3.ภาคีเครือข่ายฯ ยินดีสนับสนุน มีส่วนร่วม เฝ้าระวัง และทำงานร่วมกันเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทย

ขณะที่ นพ.โสภณ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ต้องขอบคุณทางเครือข่ายฯ ที่มาในวันนี้ ซึ่ง สธ.มีมาตรการเจาะเลือดเพื่อวัดปริมาณแอลกอฮอล์ตั้งแต่สงกรานต์ที่ผ่านมาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ชี้ขาดเป็นรายกรณีไป และถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทาง สสส.ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินการ เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และมีหลักฐานมาช่วยยืนยันได้ว่า เกิดจากการเมาแล้วขับหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เจาะเลือดตรวจแอลกอฮอล์’ ในอุบัติเหตุทุกรายช่วง 7 วันอันตราย 28 ธ.ค.–3 ม.ค.