เขตสุขภาพที่ 5 รุกงาน อสต.สร้างเครือข่ายดูแลสุขภาพชุมชนแรงงานข้ามชาติ เผยจังหวัดสมุทรสาครมี อสต. 2,300 คน ดูแลคนต่างด้าวในพื้นที่ราว 1 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประเทศ สนับสนุนทั้งการจัดอบรม กระเป๋ายา บัตร อสต. เกียรติบัตร และจักรยานเพื่อทำงานในชุมชน เผยผลงานเยี่ยม เพิ่มการฝากครรภ์ ช่วยลดปัญหาทารกแรกคลอดมีน้ำหนักน้อย ติดเชื้อได้
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า พื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ประกอบไปด้วยจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่มาก โดยมีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องประมาณ 3 แสนคน แต่คาดการณ์ว่าน่าจะมีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในพื้นที่กว่าล้านคน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งประเทศที่คาดว่ามีประมาณ 3 ล้านคน ในกลุ่มแรงงานที่ขึ้นทะเบียนทำให้ง่ายในการดูแล แต่ในด้านการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขแม้ว่าไม่ขึ้นทะเบียน แต่หากมารับบริการเราก็ดูแลให้เช่นกัน
โดยจังหวัดสมุทรสาครไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุด แต่ยังมีแรงงานข้ามชาติคลอดลูกมากที่สุด ทั้งมีอัตราคลอดที่มากกว่าคนไทย คือร้อยละ 55 ขณะที่คนไทยมีอัตราคลอดในพื้นที่ร้อยละ 45 เนื่องจากเป็นที่ตั้งของกิจการและโรงงานนับพันแห่ง
จากสถานการณ์ดังกล่าวปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่และบุคลากรด้านสุขภาพที่มีเท่าเดิม ที่คิดอัตรากำลังคนตามจำนวนประชากรไทย เมื่อมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก นอกจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัญหาการสื่อสารที่ไม่เข้าใจ ทำให้ต้องแก้ไขปัญหาโดยหาคนมาช่วยทำงานเพื่อให้งานบริการสุขภาพและสาธารณสุขในพื้นที่มีคุณภาพมากมากขึ้น ดังนั้นจึงใช้วิธีเน้นให้คนในชุมชนแรงงานข้ามชาติดูแลสุขภาพเบื้องต้นกันเอง จึงได้มีการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว (อสต.) ในพื้นที่ เช่นเดียวกับเครือข่าย อสม.ของไทย ทั้งในชุมชนพม่า ลาว และกัมพูชา โดยได้ทำมากกว่า 10 ปีแล้ว
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินงานจะมีการคัดเลือกแรงงานข้ามชาติที่อาสาสมัครเป็น อสต. จากที่คนในชุมชนคัดเลือกกันเองก่อนเพื่อร่วมดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติด้วยกันในพื้นที่ นอกจากมีการอบรมตามหลักสูตร อสต.ตามระยะเวลาแล้ว ยังได้ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลในพื้นที่ และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพื่อสนับสนุนการทำงาน อสต. ในการสอนวิชาพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ อสต.มีความรู้ และทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีหลายคนสมัครเข้าเรียนจนได้ประกาศนียบัตรต่างๆ และบางคนต่อยอดถึงระดับปริญญาตรี โดยในการทำงานมีการสนับสนุนกระเป๋ายา เสื้อ อสต. และบัตร อสต. รวมทั้งจักรยานที่จัดซื้อโดยเงินกองทุน อสต. ในการออกทำหน้าที่ดูแลสุขภาพแรงงานในชุมชน ซึ่งบางคนร่วมเป็น อสต.มานาน 10 ปี จนเป็นเหมือนเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง
“จากการสนับสนุนการสร้าง อสต.มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการอบรมในแต่ละรุ่นมีประมาณ 40-50 คน ส่งผลให้มีการขยายจำนวน อสต.เพิ่มขึ้น โดยจังหวัดสมุทรสาครมี อสต.ประมาณ 2,300 คน แม้ว่าจะมีจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลสุขภาพในชุมชน ประกอบกับ อสต.เป็นแรงงานที่มักมีการย้ายงานและที่อยู่เมื่อฝีมือการทำงานดีขึ้น จึงต้องมีการอบรม อสต.ใหม่เพื่อทดแทน”
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า จากความร่วมมือของ อสต.ทำให้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ดีขึ้น ที่ชัดเจนคือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นคนต่างด้าว เดิมประสบปัญหาไม่มีการฝากครรภ์ มา รพ.คือมาคลอดเลย ทำให้ทารกในครรภ์ขาดการดูแลต่อเนื่อง เมื่อคลอดมามักมีปัญหาน้ำหนักตัวน้อย ติดเชื้อ และมีปัญหาอีกหลายอย่าง ซึ่งจะทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา แต่หลังจากที่มี อสต.ที่คอยเยี่ยมบ้าน ทำความเข้าใจ ทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น มีการฝากครรภ์ ส่งผลให้ทารกแรกคลอดที่น้ำหนักตัวน้อยแทบจะไม่มีเลย รวมถึงโรคอื่นๆ โดย อสต.จะดูแลทั้งกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนและกลุ่มที่เข้ามาไม่ถูกกฎหมาย
นอกจาก อสต.ในเขตเมืองแล้ว ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ยังมี อสต.ในจังหวัดติดชายแดน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ช่วยดูแลปัญหาสุขภาพในกลุ่มต่างด้าวที่อยู่ตามชายแดนที่ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบปัญหาและอุปสรรคการสร้างเครือข่าย อสต.ทั้ง 2 พื้นที่ ในเขตเมืองจะได้รับความร่วมมือที่ดีกว่า เพราะเป็นกลุ่มที่มุ่งมั่นเข้ามาทำงาน และมีผู้ประกอบการคอยดูแล ทำให้การติดต่อประสานทำได้ง่ายและสะดวก แต่มีข้อเสียคือมักมีการย้ายที่ทำงานบ่อยทำให้การทำหน้าที่ อสต.ไม่ต่อเนื่อง ขณะที่ อสต.ชายแดน เนื่องจากมีหลายชนเผ่า มีภาษาที่หลากหลาย ขณะที่พื้นที่ห่างไกล ทำให้ยากต่อการติดต่อประสานงานยากกว่า
ต่อข้อซักถามว่า นโยบายภาครัฐและกระทรวงสาธารณสุขให้การสนับสนุน อสต.อย่างไร นพ.พิศิษฐ์ กล่าวว่า การจัดตั้ง อสต.เพื่อมุ่งแก้ปัญหาภาระงานในพื้นที่ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยทั้งด้านการสื่อสาร ป้องกันโรค การคัดกรองและเฝ้าระวัง โดย สธ.ให้การสนับสนุนคล้ายกับ อสม.ไทย โดยใช้งบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งผู้ประกอบการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย และกองทุนสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่กระจายไปยังหน่วยบริการที่ดูแลคนต่างด้าว พร้อมกับยกย่อง อสต.ที่ทำหน้าที่ได้ดี โดยออกประกาศนียบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับ อสต. เพื่อจะได้มีขวัญกำลังใจในการทำงานต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีข้อเสนอให้บรรจุ อสต.ในโครงสร้างระบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขเช่นเดียวกับ อสม. นพ.พิศิษฐ์ กล่าวว่า คงยังไม่มี เพราะ อสต.เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและเฉพาะพื้นที่ ซึ่ง ปัจจุบัน อสม.ก็ไม่มีค่าตอบแทน มีเพียงค่าป่วยการเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่สิทธิรักษาพยาบาลที่ผ่านมาได้ให้การดูแล อสต.ฟรีอยู่แล้ว
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตราบใดที่ยังมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย เราคงยังต้องมี อสต. เพราะเราไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ้าง แต่ อสต.ที่ร่วมเครือข่ายต่างมองว่า ตรงนี้เป็นงานที่ได้บุญ และได้รับการยอมรับ โดยใช้เวลาว่างมาช่วยดูแลคนในชุมชน นอกจากนี้งานด้านสุขภาพเป็นความรับผิดชอบของทุกคน นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คนในชุมชนเองต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้การดูแลสุขภาพครอบคลุมในพื้นที่ด้วย
- 53 views