ผอ.รพ.ภูเขียวฯ ระบุ บัตรทองเดินถูกทาง หลักการดี สิทธิประโยชน์-การเข้าถึงบริการครอบคลุม แต่ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ แนะรัฐอัดเงินเพิ่ม อย่ามองเรื่องเศรษฐานะ ชี้ไทยยังใช้งบประมาณด้านสุขภาพต่ำ เสนอร่วมจ่ายเป็นทางออก แต่ต้องไม่เก็บเงินคนจน
นพ.สุภาพ สำราญวงษ์
นพ.สุภาพ สำราญวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ จ.ชัยภูมิ เจ้าของรางวัลศูนย์บริการสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี 2559 ประเภทโรงพยาบาลชุมชน กล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพไทย เนื่องในวันหลักประกันสุขภาพโลก ตอนหนึ่งว่า ส่วนตัวมองว่าระบบหลักประกันสุขภาพไทยและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ภายใต้การบริการงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เดินมาอย่างถูกทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยแนวคิดเป็นสิ่งที่ดีมาก คือต้องไม่ให้ใครล้มละลายทางการเงินจากการรักษาพยาบาล และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงิน
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้ออ่อนด้อยเชิงระบบอยู่สิ่งหนึ่ง นั่นก็คือปัญหางบประมาณไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ส่งผลให้หน่วยบริการเกิดอุปสรรคในการทำงานค่อนข้างมาก ซึ่งงบประมาณนั้นยึดโยงกับประสิทธิภาพในการทำงานด้วย
นพ.สุภาพ กล่าวว่า สาธารณสุขคือสุขของสาธารณะ ฉะนั้นเรื่องความเจ็บป่วยจึงไม่ควรนำเรื่องเศรษฐานะหรือเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง แน่นอนว่าตรงนี้เป็นหน้าที่รัฐในการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อความจำเป็น แต่สถานการณ์ในปัจจุบันพบว่างบประมาณอาจจะขาดอยู่ในบางส่วน นำไปสู่การบริหารงานค่อนข้างยาก
“ทุกวันนี้เงินนโยบายค่าตอบแทนสูงขึ้นเรื่อยๆ คือต้องเข้าใจก่อนว่าถ้าค่าตอบแทนไม่สูงบุคลากรก็จะไม่มีความสุข แต่พอสูงเงินสำหรับการบริหารจัดการก็ขาดแหว่งไป เพราะเงินที่มีอยู่เท่าเดิม เราก็ต้องมาหาความสมดุลว่าเงินก้อนเดียวกันนี้จะแบ่งไปช่วยประชาชนเท่าไร แบ่งให้บุคลากรเท่าไร ผมคิดว่าปัจจุบันประเทศไทยใช้งบประมาณด้านสุขภาพน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ที่สำคัญคือต้องเข้าใจด้วยว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขในปัจจุบันไม่ใช่คนรุ่นเก่าแต่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เม็ดเงินนำสักเล็กน้อย แต่แน่นอนว่าโดยจิตวิญญาณของคนสาธารณสุขแล้วย่อมเป็นผู้เสียสละ เราก็พยายามดูแลเรื่องจิตใจไปแล้ว แต่มันก็ได้ระดับหนึ่ง ฉะนั้นเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” นพ.สุภาพ กล่าว
นพ.สุภาพ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวคิดว่าแนวทางการร่วมจ่ายค่าบริการก็เป็นทางออกที่ดีในการแบ่งเบางบประมาณ แต่ต้องพูดหรือกำหนดกันให้ชัดว่าหากใครไม่มีก็ต้องไม่ต้องจ่าย ใครมีก็ช่วยบ้าง เอาให้อัตราเหมาะสม คือเสียสละก็ส่วนหนึ่ง บริจาคก็ส่วนหนึ่ง แต่การให้โดยกติกาก็ควรมีส่วนหนึ่งด้วย
“เราอาจเดินมาถึงจุดนี้แล้ว คือถ้าจะมองว่าทุกโรครักษาฟรี ทุกโรคสามารถให้บริการได้ ก็ต้องมองด้วยว่าเงินถังเรามีอยู่เท่าไร โดยส่วนตัวผมคิดว่าคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ฉะนั้นความคิดเห็นส่วนตัวของผมคือการร่วมจ่ายน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนทุกฝ่าย เพราะคนจนก็ไม่ต้องจ่ายเหมือนเดิม คนมีก็จ่ายบ้างเล็กน้อยในระดับที่พอรับได้ ผมเชื่อว่าถ้าเราอธิบายด้วยความเข้าใจประชาชนน่าจะรับได้อยู่ เขาไม่น่าจะว่าอะไร” นพ.สุภาพ กล่าว
- 167 views