กรมควบคุมโรคแจงกรณีหญิงท้องติดเชื้อไวรัสซิกา รพ.ศรีธัญญา มี 1 ราย ยังไม่พบความผิดปกติของทารกในครรภ์ ยันสามารถป้องกันและควบคุมได้ แนะการป้องกันที่ดีสุด คือ ระวังไม่ให้ยุงกัด และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ให้เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค กรณีมีรายงานข่าวพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโรคไวรัสซิกาในโรงพยาบาลศรีธัญญา ใกล้กระทรวงสาธารณสุข จากการสอบสวนโรคโดยทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) พบว่า มีผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาด้วยอาการไข้ออกผื่น ผลการตรวจเลือดพบติดเชื้อไวรัสซิกา และกรมควบคุมโรคได้เร่งค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพิ่มเติม ปรากฎว่ามีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 1 ราย ซึ่งขณะนี้ ผู้ติดเชื้อยังตรวจไม่พบความผิดปกติของทารกในครรภ์ พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง ในกลุ่มเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการ เพื่อปัองกันการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคดังกล่าวถือเป็นโรคประจำถิ่น ที่สามารถพบได้ในประเทศไทยเช่นเดียวกับนานาประเทศ เมื่อคนถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด อาจเริ่มปรากฎอาการใน 4 - 7 วัน อาการที่พบบ่อย คือ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง และอาจมีอาการอื่นๆได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และหายได้เอง
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะ การรักษาจึงต้องรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาการเจ็บป่วย การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่ดีสุด คือ การระวังไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้งและทายากันยุง รวมทั้งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
ถ้ามีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ให้รีบปรึกษาแพทย์ ในกรณีมีไข้ แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไฟริน หรือยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มอื่น
หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 49 views