The New York Times เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เขียนโดย MIKE IVES and DONALD G. McNEIL Jr. รายงานถึงสถานการณ์ปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาที่กำลังระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความกังวลว่าหากควบคุมไม่ดี จะระบาดไปยังทวีปแอฟริกาซึ่งจะบานปลายไปทั่วโลกได้

ตรา ธี หนาน (Tra Thi Nhan) เปิดร้านขายยาอยู่ในอำเภอบูเกียแมป BU GIA MAP ในเวียดนามท่ามกลางป่าเขาใกล้ชายแดนกัมพูชา เธอมองว่าปัญหามาลาเรียในพื้นที่มาจากลักษณะภูมิประเทศแถบนี้

ตรัน เวียด ฮึง (Tran Viet Hung) รับผิดชอบภารกิจลาดตระเวนเนินป่าทางใต้ของเวียดนามเมื่อ 6 ปีก่อน เขากลับออกมาจากป่าพร้อมอาการไข้จับสั่น ผลตรวจบ่งชี้ว่าเขาติดเชื้อมาลาเรียและได้พักฟื้นอยู่ในคลินิกของรัฐ 2-3 วัน

ฮึงซึ่งขณะนี้อายุ 37 ปีดูไม่ยี่หระกับอันตรายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดบิ่ญเฟื้อกติดชายแดนกัมพูชาซึ่งมีมาลาเรียระบาดชุกชุม

“เดี๋ยวนี้เราพัฒนาแล้วครับ” ฮึงซึ่งปัจจุบันเป็นคนงานสวนยางอยู่ในอำเภอบูเกียแมปกล่าว “ถ้าเราไม่สบายก็แค่ไปหาหมอ หมอจะดูแลเราเองครับ”

การมองโลกในแง่ดีของฮึงใช่จะไร้เหตุผล ข้อมูลสถิติจากมหาวิทยาลัยแคลฟอร์เนียของสหรัฐอเมริการะบุว่า ปัจจุบันแทบไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียในเวียดนามเลย สถิติอัตราตายเมื่อปี 2558 ลดลงเหลือเพียง 85 รายจากระดับกว่า 4,000 รายเมื่อ 15 ปีก่อน

ความสำเร็จในการควบคุมมาลาเรียของเวียดนามเป็นผลจากการรักษาด้วยสูตรยา artemisinin อันเป็นยาราคาถูกและมีประสิทธิภาพดีซึ่งพัฒนาขึ้นในประเทศจีนเมื่อหลายสิบปีก่อน อย่างไรก็ดีเชื้อมาลาเรียสายพันธ์ใหม่ที่ดื้อต่อยา artemisinin และ piperaquine กำลังก่อตัวเป็นภัยคุกคามใหม่ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินระบบสุขภาพและอาจทำให้อัตราตายจากโรคมาลาเรียกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เฝ้าติดตามการระบาดของปรสิต falciparum ซึ่งระบาดจากทางตะวันตกของกัมพูชาเข้าสู่ไทยและลาวก่อนระบาดเข้าสู่เวียดนาม การระบาดของปรสิต falciparum ในพื้นที่จังหวัดบิ่ญเฟื้อกมีรายงานไว้ในวารสาร The Lancet Infectious Diseases เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือการที่มาลาเรียดื้อยา artemisinin อาจระบาดสู่ภูมิภาคตอนใต้ของทะเลทรายสะฮาราในแอฟริกาและอาจคร่าชีวิตเด็กราววันละ 3,000 ราย

ตรัน เวียด ฮึง คนงานสวนยางมองว่ามาลาเรียเป็นเพียงอันตรายจากการทำงาน “ถ้าเราไม่สบายก็แค่ไปหาหมอ หมอจะดูแลเราเองครับ” ภาพเดอะนิวยอร์คไทมส์

“การระบาดมีความเป็นไปได้สูงมากครับ” ดร.อาร์เจน เอ็ม ดอนดอร์ป (Arjen M. Dondorp) ผู้นิพนธ์ร่วมในงานวิจัยดังกล่าวซึ่งรั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ดในกรุงเทพฯ เผย “น่าวิตกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และแน่นอนว่ามาลาเรียดื้อยาจะระบาดถึงแอฟริกาในที่สุดครับ”

เชื้อโรคดื้อยา หรือ “ซูเปอร์บัก” ไม่ได้อยู่แค่ในนิยายวิทยาศาสตร์ ยา chloroquine ซึ่งพัฒนาขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเป็นยาที่มอบปาฎิหาริย์ให้แก่ผู้ป่วย ทว่าเชื้อโรคดื้อยาที่ระบาดจากตะวันตกของกัมพูชาผ่านอินเดียเข้าสู่ตอนใต้ของทะเลทรายสะฮาราทำให้ chloroquine ไม่หลงเหลือคุณค่าอันใดอีก

การระบาดของเชื้อโรคดื้อยาจากเอเชียเข้าสู่แอฟริกาอีกกรณีหนึ่งก็ส่งผลต่อยา fansidar (sulfadoxine ร่วมกับ pyremethamine) ในลักษณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านมาลาเรียวิตกว่าเชื้อดื้อยาอาจทำให้ artemisinin และยาที่ใช้ร่วมกันไร้ค่าไปในที่สุด

แนวทางเวชปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกกำหนดให้ใช้ยา artemisinin ร่วมกับยาอื่นอย่างน้อย 1 ตัว เนื่องจาก artemisinin มีประสิทธิภาพกำจัดเชื้อได้อย่างรวดเร็วแต่จะคงอยู่ในกระแสเลือดได้เพียง 1-2 วัน สูตรการรักษาในปัจจุบันจึงใช้ artemisinin ร่วมกับยาอื่นที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่าแต่คงอยู่ได้นานกว่าเพื่อขจัดเชื้อปรสิตที่ตกค้างอยู่

มีรายงานพบเชื้อดื้อยา artemisinin เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนภายหลังบริษัทยาบางส่วนจำหน่ายยามาลาเรียที่มีเฉพาะ artemisinin ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างกำลังถกเถียงเพื่อหาทางออกท่ามกลางรายงานว่ารักษาด้วย artemisinin ร่วมกับยาอื่นเริ่มไม่ได้ผลอีกต่อไป

เป้าหมายการกำจัดมาลาเรียจากปรสิต falciparum ให้หมดไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2574 ได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กรรวมถึงกองทุนเพื่อการรักษาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย โดยประเมินว่าแม้โครงการนี้อาจต้องใช้งบประมาณราว 2,400 ล้านดอลลาร์แต่ก็แลกมาด้วยการช่วยให้ 91,000 ชีวิตรอดตาย ในขณะเดียวกันก็ป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจในแง่ผลิตภาพและค่ารักษาได้ถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ โดยองค์กรผู้บริจาคยังได้ร่วมสมทบทุนในการจัดซื้อมุงกันยุงและฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุข

เอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมาลาเรียแจกตามร้านขายยาในเวียดนามซึ่งเริ่มพบการระบาดของมาลาเรียสายพันธ์ดื้อยา ภาพเดอะนิวยอร์คไทมส์

“มาลาเรียดื้อยาระบาดไปถึงแอฟริกาเมื่อไรหายนะก็จะเกิดขึ้นตอนนั้นล่ะครับ” ดร.คริสโตเฟอร์ วี โพลวี (Christopher V. Plowe) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมาลาเรียประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์เผยระหว่างให้สัมภาษณ์แหล่งข่าว

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัญหาสำคัญคือการที่มาลาเรียมักชุกชุมอยู่ในพื้นที่ป่า ขณะที่การติดตามสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในป่าก็ทำได้ยากยิ่ง และปัญหายิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกในพื้นที่สู้รบ เช่น ตามตะเข็บพรมแดนระหว่างเมียนมาร์และจีน

นพ.โด คิม เกียง (Do Kim Giang) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอำเภอบูเกียแมปเผยว่าเขามองไม่เห็นความสำเร็จที่จะกำจัดมาลาเรียในพื้นที่ “เราทำได้เพียงป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเท่านั้นครับ" สอดคล้องกับข้อมูลของอนามัยโลกซึ่งชี้ว่าจังหวัดบิ่ญเฟื้อก (Binh Phuoc) (รวมถึงอำเภอบูเกียแมป) มีสัดส่วนผู้ป่วยมาลาเรียจากปรสิต falciparum สูงถึงร้อยละ 39 จากจำนวน 1,601 รายทั้งประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญคาดหวังว่า “ยามหัศจรรย์” ตัวใหม่จะออกสู่ตลาดได้ในไม่ช้า

บริษัทซาโนฟีและโนวาร์ติสต่างอยู่ในขั้นสุดท้ายของกระบวนการการทดสอบยาใหม่ โดย ดร.ทิโมธี เอ็น เวลส์ (Timothy N. Wells) ประธานแผนกวิทยาศาสตร์องค์กรความร่วมมือวิจัยยามาลาเรียของสวิตเซอร์แลนด์คาดหวังว่าจะมียาอย่างน้อย 1 ตัวผ่านการรับรองโดยอนามัยโลกภายในปี 2565-2566 หรืออย่างเร็วภายในปี 2563 หากเกิดวิกฤติมาลาเรียดื้อยาปะทุขึ้นในแอฟริกา โดยเผยด้วยว่ามียามาลาเรียอีกหลายตัวที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นดัน และทั้งหมดล้วนเป็นสูตรยาที่ไม่ใช้ artemisinin เป็นองค์ประกอบหลัก

“การพัฒนายาใหม่กำลังคืบหน้าเร็วมากครับ” ดร.เวลส์ เผย

แต่จนกว่าจะมียาใหม่เข้าสู่ตลาด การรักษามาลาเรียดื้อยาในเอเชียยังคงต้องแก้ไขเฉพาะหน้าด้วยวิธีการสับเปลี่ยนสูตรยา

เมื่อปีก่อนกัมพูชาได้เปลี่ยนการรักษาจากสูตร artemisinin ร่วมกับ piperaquine มาใช้สูตร artesunate ร่วมกับ mefloquine ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยกองทัพบกสหรัฐฯ (เชื้อมาลาเรียที่ดื้อยา piperaquine มักไวต่อยา mefloquine)

แม้องค์การอนามัยโลกชี้ว่าเวียดนามกำลังก้าวสู่เส้นชัยการกำจัดมาลาเรียภายในปี 2573 แต่ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าเวียดนามจะไปถึงความสำเร็จ

นพ.โด คิม เกียง ชี้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะกำจัดมาลาเรียในพื้นที่อำเภอบูเกียแมป “เราทำได้เพียงป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเท่านั้นครับ" ภาพ เดอะนิวยอร์คไทมส์

“ถ้าเราล้มเหลวเสียตอนนี้มันก็จะระบาดไปทั่วโลกครับ” ดร.กิดง ปาร์ค (Kidong Park) ผู้แทนอนามัยโลกประจำเวียดนามชี้

ด้วยเหตุที่สถานการณ์ในแอฟริกาอาจบานปลายถึงขึ้นหายนะครั้งใหญ่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเรียกร้องให้องค์กรอนามัยโลกประกาศให้เชื้อดื้อยาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นปัญหาเร่งด่วน

“ทำไมถึงไม่ประกาศกันเสียที” ดร.ลอเรนซ์ ซีดลิน (Lorenz von Seidlein) นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยมหิดลซึ่งเคยปฏิบัติงานอยู่ทางภาคตะวันตกของแอฟริกาตั้งคำถาม เขาชี้ด้วยว่าจำนวนยามากมายที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาอาจนำไปสู่ “ความมั่นใจผิดๆ” ว่าอาจมียาตัวใดตัวหนึ่งที่จะกลายเป็นยาวิเศษ

ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นตรงกันว่ากัมพูชาซึ่งเป็นต้นทางของการแพร่ระบาดแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาไม่ดีพอ

รายงานที่แหล่งข่าวได้รับจากทางการกัมพูชาชี้ว่าอัตราการติดเชื้อมาลาเรียในปีนี้สูงขึ้นใน 10 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพรมแดนประชิดเวียดนาม และสูงขึ้นกว่า 2 เท่าที่จังหวัดมณฑลคีรี (Mondulkiri) ซึ่งชิดกับอำเภอบูเกียแมป ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็มีการเผยแพร่รายงานชี้ให้เห็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและทุจริตที่บั่นทอนมาตรการควบคุมโรคมาลาเรียของกัมพูชา

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าแม้โครงการควบคุมโรคมาลาเรียของเวียดนามมีประสิทธิภาพดีกว่ากัมพูชา แต่เชื้อดื้อยาอาจระบาดมากับแรงงานที่เดินข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ

การที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อมาลาเรียในอำเภอบูเกียแมปไม่ใช่เป็นเพราะขาดมาตรการควบคุมโรค เภสัชกรหญิงเจ้าของร้านขายยาในละแวกที่เต็มไปด้วยป่าเขาและสวนยางเผย

“ปัญหาเกิดจากภูมิประเทศของเราเองค่ะ”

แปลจาก As Malaria Resists Treatment, Experts Warn of Global Crisis: www.nytimes.com