เลขาธิการ สพฉ.แจงประกาศเรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ ย้ำบังคับเฉพาะหน่วยปฏิบัติการที่จะตั้งขึ้นใหม่ ส่วนหน่วยเดิมที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วให้ทำหน้าที่ต่อไปตามเดิม พร้อมดึง สธ. เข้ามาช่วยอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานให้สูงขึ้นในอนาคต
นพ.อัจฉริยะ แพงมา (ขอบคุณภาพจาก PPTV)
นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2560 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประกาศ สพฉ. เรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ.2560 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2560 และได้รับการต่อต้านจากเครือข่ายกู้ชีพบางส่วนถึงขั้นเตรียมประท้วงขับไล่ว่า ประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินและพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงาน/หน่วยปฏิบัติงานได้ผ่านกระบวนการยกร่างกว่า 6 เดือน ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานหลายชุดและผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งผู้ให้บริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และส่วนราชการต่างๆ ซึ่งหลังจากผ่านความเห็นชอบจาก กพฉ.แล้ว จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 180 วัน หรือคาดว่าประมาณกลางปี 2561
นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ประกาศฉบับนี้ไม่มีผลบังคับกับการปฐมพยาบาลโดยประชาชนทั่วไปรวมทั้งการกู้ภัย แต่จะมีผลเฉพาะกับการกู้ชีพ โดยการมีผลจะมี 2 ลักษณะ คือ 1.ใช้กับหน่วยปฏิบัติการที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ 2.หน่วยปฏิบัติการเดิมที่ขึ้นทะเบียนไว้อยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินงานต่อไป โดยรักษามาตรฐานไม่ให้ต่ำกว่าเดิม และปฏิบัติหน้าที่ไม่เกินขอบเขตอำนาจความรับผิดชอบหรือข้อจำกัดของหน่วยนั้น
“ปัจจุบันมีชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 1 หมื่นชุดทั่วประเทศ ถือว่ายังสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้โดยไม่มีผลกระทบกับประชาชน ประกาศฉบับนี้ไม่ได้ต้องการกีดกันพี่น้องมูลนิธิออกไปจากระบบ แต่ต้องการควบคุมมาตรฐาน ควบคุมหน่วยงานใหม่ที่แต่งตัวคล้ายผู้ปฏิบัติงาน ตรงนี้แหล่ะที่น่าเป็นห่วง ถ้า สพฉ.ไม่ออกประกาศฉบับนี้ขึ้นมา เราก็ไม่มีเครื่องมือไปจัดระเบียบ” นพ.อัจฉริยะ กล่าว
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินจะมี 3 ระดับคือ ALS หรือกลุ่มแพทย์ พยาบาลที่มาจากโรงพยาบาล ระดับ BLS หรือพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ที่ผ่านการอบรม 120-140 ชั่วโมง และระดับ FR ซึ่งผ่านการอบรม 16, 24 หรือ 40 ชั่วโมง แต่ตามประกาศฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะแบ่งบุคลากรเป็น 4 ประเภทคือ 1.ประเภทวิชาชีพ ก็คือกลุ่มแพทย์ พยาบาล หรือรถพยาบาลตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล
2.ประเภทอำนวยการ หรือ แพทย์ฉุกเฉิน กลุ่มนี้จะเป็นบุคลากรประเภทใหม่ซึ่งไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน แต่เดิมเมื่อรับแจ้งเคสจากสายด่วน 1669 เจ้าหน้าที่ก็จะประเมินอาการแล้วแจ้งหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ให้ออกไปรับตัวส่งโรงพยาบาล หมายความว่าที่ผ่านมาระบบแบบนี้เป็นเหมือนแท็กซี่ที่นำส่งผู้ป่วยเฉยๆ ซึ่งก็จะมีผู้ป่วยบางรายที่เสียชีวิตระหว่างทาง แต่การมีแพทย์ฉุกเฉินเข้ามา จะทำให้มีหน่วยที่ออกปฏิบัติการ คุมการปฏิบัติการ หรือออกคำสั่งทางการแพทย์นอกโรงพยาบาลได้ หรืออาจประจำอยู่ที่ศูนย์กลางแล้วออกคำสั่งทางไกลไปยังผู้ที่สามารถรับคำสั่งทางการแพทย์ได้ เช่น พยาบาล หรือ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (paramedic) เป็นต้น
3.ประเภทช่วยอำนวยการ หรือศูนย์รับแจ้งเหตุต่างๆ และ 4.ประเภทช่วยเวชกรรม ซึ่งก็คือหน่วยปฏิบัติการทั้งหลาย
“ทั้ง 4 ประเภทนี้จะเชื่อมโยงกัน มีการดูแลออกคำสั่งรักษาระหว่างทาง จากเดิมที่จะเป็นในลักษณะของการขนส่งแล้วมาเริ่มรักษาจริงๆ ที่โรงพยาบาล” นพ.อัจฉริยะ กล่าว
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า การวางกระบวนการเช่นนี้จะทำให้เห็นภาพในอนาคตได้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมีมาตรฐานมากขึ้น ถ้าไม่ออกแนวทางแบบนี้ไว้ก็จะเป็นเหมือนเดิมชั่วนาตาปี และการที่ต้องมีการต่ออายุนั้นก็เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่พยาบาลก็ต้องต่ออายุทุก 5 ปี แพทย์ก็ต้องเก็บคะแนนสะสมความรู้ หรือแม้แต่เรื่องทั่วไปอย่างใบขับขี่ก็ต้องต่ออายุทุก 5 ปี การที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการอบรม 24 ชั่วโมงแล้วไม่มีวันหมดอายุก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งในส่วนของการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานนั้น สพฉ.ได้หารือกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เข้ามาช่วยเป็นหน่วยอบรมในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เพราะ สพฉ.ออกกฎหมายให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการแพทย์ฉุกเฉินได้ จัดฝึกอบรม จัดซื้ออุปกรณ์ ตั้งงบประมาณ รวมทั้งบรรจุงานได้ ซึ่งจะทำให้งานแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เข้มแข็งมากขึ้นในอนาคต
สำหรับประเด็นที่มีการเตรียมจะรวมตัวขับไล่ตนออกจากตำแหน่งนั้น นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ตนเป็นจิตอาสาคนหนึ่งที่รักงานแพทย์ฉุกเฉิน ลาออกจากโรงพยาบาลเอกชนเพื่อมาทำงานนี้ด้วยความตั้งใจเข้ามาช่วยพี่น้อง และอยากเห็นประชาชนปลอดภัย รวมทั้งมีผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากที่ต้องการการคุ้มครอง ตนก็อยากเข้ามาช่วยในเรื่องการคุ้มครองโดยการเชียร์ ชวน ชม ให้เกิดการศึกษาเพิ่มเติมและพยายามหากลไกดูแลในเรื่องสวัสดิการ แต่อาจมีบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ ก็จะตีความว่าสิ่งที่ตนดำเนินการอยู่ไปขัดใจคนบางกลุ่มจึงมีภาพออกมาเช่นนี้
“สำหรับข้อกังวลว่าผู้ปฏิบัติงานระดับ FR จะนำส่งผู้ป่วยไม่ได้ ต้องเรียนว่าคำว่า FR มี 2 แบบ แบบแรกคือตัวผู้ปฏิบัติงานที่เป็น FR เพียวๆ ก็ต้องทำเรื่องการปฐมพยาบาล แต่คำว่า FR อีกแบบที่เป็นชุดปฏิบัติการ ใน 1 ชุดก็จะมีข้อกำหนดอยู่แล้วว่าต้องมีบุคลากรที่ผ่านการอบรมในหลักสูตร EMR (Emergency Medical Responder) อยู่แล้ว ซึ่งคนที่เป็น FR แต่ไม่ได้อบรม EMR แต่ไปกับ EMR ก็ถือว่าไปช่วยเป็นทีม สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ ภายใต้ชุดปฏิบัติการเดิมไม่ใช่เปิดชุดลอยๆ ขึ้นมาใหม่” นพ.อัจฉริยะ กล่าว
ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรม EMR แล้วกว่า 4.3 หมื่นคน และอยู่ในระบบ 3.4 หมื่นคน อาจจะยังไม่เพียงพอในบางพื้นที่แต่ก็เป็นจุดที่ต้องพัฒนาร่วมกัน ซึ่งก็ได้บอกไปแล้วว่า สพฉ.กำลังหารือกับ สธ.เพื่อให้เข้ามาช่วยอบรมโดยที่ สพฉ.สนับสนุนงบประมาณหรือร่วมจ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 359 views