กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าควบคุมโรคแอนแทรกซ์ให้ผู้สัมผัสโรคทุกคนกินยาป้องกัน 60 วัน ทุกคนปกติ ส่วนผู้ป่วยชาย 2 รายมีตุ่มหนองที่ผิวหนัง อาการไม่รุนแรง ให้ยารักษาและดูแลในโรงพยาบาลจนกว่าตุ่มหนองจะหาย ชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่สามารถตรวจพบ ควบคุม จำกัดวงการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วย้ำโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้แจ้งปศุสัตว์ ในประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีพบผู้ป่วยชายซึ่งเป็นผู้ชำแหละแพะที่ตายแล้วสงสัยเป็นโรคแอนแทรกซ์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ว่า ในวันนี้ ได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบเชื้อบาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคแอนแทรกซ์ในผู้ป่วย 2 ราย มาด้วยอาการมีตุ่มหนองที่มือทั้ง 2 ข้าง ขณะนี้ ได้รับยารักษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าตุ่มหนองจะหาย
สำหรับการควบคุมป้องกันโรค ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 ได้ติดตามประชาชนในหมู่บ้านที่รับประทานเนื้อแพะ และผู้สัมผัสโรคในหมู่บ้าน บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ จำนวน 247 คน ได้ให้ยารับประทานเพื่อป้องกันต่อเนื่อง 60 วัน และติดตามเฝ้าระวังโรค ขณะนี้ ทุกคนปกติ พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้และการป้องกันตัว แจกแผ่นพับภาษาไทยและภาษาพม่า และทำประชาคมสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในหมู่บ้าน โดยให้สังเกตอาการ เช่น ผิวหนังมีตุ่มหนอง มีแผลหรือฝ้าขาวในปาก ลำคอ ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด มีไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
“ขอชื่นชมและขอบคุณเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทีมแพทย์ที่ตรวจพบและควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถจำกัดวงของการแพร่ระบาดได้ และขอย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หากพบแพทย์เร็วรักษาให้หายขาดได้ และในประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์”
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม อย่านำสัตว์ที่ป่วยหรือตายแล้ว มาชำแหละจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ขอให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสซากสัตว์
หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกายหรือหากป่วยโดยมีประวัติสัมผัสสัตว์ตายหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ป่วยตาย หรือหลังเดินทางกลับจากพื้นที่มีผู้ป่วยให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง พร้อมแจงประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการเดินทาง โรคนี้มียารักษาหากเจ็บป่วยหลังสัมผัสสัตว์ให้รีบพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร โรคมักจะเกิดในท้องที่ซึ่งมีประวัติว่าเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ปัจจุบันเนื่องจากการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว พ่อค้าสัตว์มักจะนำสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่อยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่น ทำให้เกิดการกระจายของโรคไปไกล ๆ ได้ เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 แบบ คือที่ผิวหนัง ที่ปอดจากการสูดดม ที่ทางเดินอาหารและ oro-pharynx จากการกินเชื้อนี้เข้าไป
สาเหตุ
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bacillus anthracis เป็นเชื้อ aerobic, non-motile, spore-forming rod (1-1.25 ? 3-5 nm) จัดอยู่ในตระกูล Bacillaceae เมื่อนำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยมาย้อมสีแกรมจะพบ square-ended gram-positive rods ขนาดใหญ่อยู่เดี่ยวๆ หรือต่อกันเป็น short chains เมื่ออยู่ในที่แห้งและภาวะอากาศไม่เหมาะสมจะสร้างสปอร์หุ้มเซลล์ไว้ มีความทนทานมากทั้งความร้อนความเย็น และยาฆ่าเชื้ออยู่ในธรรมชาติได้นานเป็นสิบๆ ปี
วิธีการติดต่อ
ในคน ส่วนใหญ่จะติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย บุคคลที่เป็นโรคนี้พบมากในกลุ่มที่มีอาชีพทางเกษตรกรรม นอกจากนี้ได้แก่ คนชำแหละเนื้อ สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย โรคติดมาสู่คนเนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดความระมัดระวัง หรืออาจเป็นเพราะความยากจนเมื่อสัตว์ตายจึงชำแหละเนื้อมาบริโภค อย่างไรก็ตามอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนจึงไปติดเชื้อเข้ามา แอนแทรกซ์ผิวหนังจะเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจเกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นมีโรค (endemic area) การติดต่อทางระบบหายใจยังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย
ระบาดวิทยาของโรค
โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงของสัตว์แทบทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า อัตราป่วยตายสูงมาก คือร้อยละ 80 - 90 ส่วนมากมักจะเกิดในสัตว์ที่กินหญ้าเป็นอาหารก่อน เช่น โค กระบือ แพะ แกะ ม้า ลา และฬ่อ แล้วติดต่อไปยังสัตว์อื่น เช่น สุกร สุนัข แมว หรือสัตว์ป่าอย่างอื่นที่มากินซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้
สถานการณ์โรคก่อนระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยในทุกภาคของประเทศส่วนมากติดโรคจากโค กระบือ ยกเว้นมีบางครั้งที่ติดต่อจากแพะ ที่ปัตตานี และติดต่อจากแกะที่ลพบุรี ในระยะ 10 ปีเศษๆที่ผ่านมาไม่พบโรคนี้ในภาคใต้ แต่ยังคงพบโรคนี้ในภาคกลาง เช่น เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ภาคเหนือที่ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี และถาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย อุบลราชธานี เป็นต้น ส่วนมากพบผู้ป่วยตามจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการลักลอบนำโคกระบือติดโรคที่ยังมีชีวิตเข้ามาชำแหละเนื้อไปจำหน่าย หรือนำเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้เข้ามาจำหน่ายในราคาถูกๆ
การเกิดโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2543 มีรายงานสูงที่สุดในปี 2538 (ป่วย 102 ราย ไม่มีตาย คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากรเท่ากับ 0.17 ) สำหรับการเกิดโรคในปี พ.ศ. 2543 มีจำนวนผู้ป่วยใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2542 (รูปที่ 5) แต่มีจำนวนครั้งที่เกิดโรคน้อยกว่า โดยในปี พ.ศ. 2542 มีผู้ป่วย 14 ราย มีการเกิดโรคทั้งหมด 4 ครั้ง ส่วนในปี พ.ศ. 2543 มีผู้ป่วย 15 ราย แต่มีการเกิดโรคเพียงครั้งเดียว ส่วนในปี พ.ศ. 2544 - 2547 สำนักระบาดวิทยา พบว่าไม่มีรายงานโรคแอนแทรกซ์ในคนเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย โดยปกติแล้ว อัตราการเกิดโรคนี้ต่อประชากรแสนคนอยู่ระหว่าง 0.02 - 0.17
การรักษา
การรักษาโรคแอนแทรกซ์ทั่วๆ ไป สามารถให้ยาเพนนิซิลลิน (penicillin) โดยให้ทางหลอดเลือดดำในขนาด 300,000 - 400,000 หน่วย/ กก. น้ำหนักตัว/ 24 ชั่วโมง หรือให้ด็อกซี่ซัยคลิน (doxycycline) ซี่งเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลดี เหมาะสำหรับเชื้อก่อโรคที่เป็นสายพันธุ์ปกติ สำหรับแอนแทรกซ์ผิวหนังเชื้อจะหมดจากแผลภายหลังการรักษา 24 ชั่วโมง และอาการบวมจะยุบลงใน 2-5 วัน โดยปกติเชื้อ Bacillus anthracis ไวต่อยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิด อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาจะดีมากเมื่อเริ่มให้การรักษาในตอนแรก ๆ ที่สงสัยว่าจะได้รับเชื้อเข้าไป เพราะถ้ารักษาช้าเชื้อจะสร้างสารพิษ (toxin) ขึ้นมามาก การรักษาจะไม่ค่อยได้ผล สำหรับการให้ยาป้องกันในผู้สัมผัสเชื้อให้รับประทาน doxycycline ขนาด ๑oo มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ ๒ ครั้ง หรือ ciprofloxacin ขนาด ๕oo มิลลิกรัม แบ่งให้วันละ ๒ ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
- 213 views