สภาเทคนิคการแพทย์ชี้ “ตรวจเลือดสดหยดเดียว” ไม่ใช่ศาสตร์และแนวปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ยกกรณีต่างประเทศระบุเป็นการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่มีประโยชน์และจัดเป็นการตรวจที่แสวงหาผลประโยชน์
สภาเทคนิคการแพทย์แจง หลักการทดสอบแบบ Live Blood Cell Analysis : LBA หรือการตรวจเลือดสดหยดเดียวยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือเพียงพอ ไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดเกี่ยวกับการแปลผลการตรวจวิเคราะห์ ยกกรณีต่างประเทศระบุเป็นการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่มีประโยชน์และจัดเป็นการตรวจที่แสวงหาผลประโยชน์
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 สภาเทคนิคการแพทย์ โดยคณะอนุกรรมการการศึกษาและพัฒนาวิชาการ ออกคำชี้แจงกรณีการตรวจเลือดสดหยดเดียว หรือ Live Blood Cell Analysis (LBA) ที่เคยปรากฏเป็นข่าวในโซเชียลมีเดียก่อนหน้านี้ ว่า การตรวจ LBA ใช้การส่องเลือดสดด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด Dark field ที่มีการแสดงผลขึ้นบนจอมอนิเตอร์ ซึ่งกล้องจุลทรรศน์ชนิดนี้อาศัยหลักการแสงตกกระทบด้านข้างของวัตถุ ซึ่งแตกต่างจากการส่องผ่านด้านล่างของวัตถุตามหลักการของกล้องจุลทรรศน์ชนิด bright field ที่ใช้กันทั่วไป จึงทำให้พื้นหลังมีความมืด ในขณะที่วัตถุจะสว่าง ทำให้เห็นลักษณะภายนอกได้ชัดเจน แต่จะไม่เห็นรายละเอียดภายในของวัตถุ ซึ่งในทางการแพทย์มักใช้กล้องชนิดนี้ในการตรวจเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ยังมีชีวิต ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะการเคลื่อนไหวที่จำเพาะ ที่สำคัญกล้องจุลทรรศน์ชนิดนี้ไม่สามารถใช้ดูรายละเอียดภายในของวัตถุได้เหมือนกับการดูด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบ bright field อีกทั้งกำลังขยายสูงสุดของกล้องแบบ dark field ที่ใช้ในการตรวจตัวอย่างสดคือ 400 เท่า เท่านั้น ในทางการแพทย์ จึงไม่ได้ประยุกต์ใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดนี้เป็นหลักในการตรวจวินิจฉัยโรคแต่อย่างใด
คำชี้แจง ยังระบุด้วยว่า กระบวนการตรวจวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตามมาตรฐานงานเทคนิคการแพทย์ จะตรวจวิเคราะห์ความสมบูรณ์หรือความผิดปกติของเม็ดเลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยไม่ใช้เลือดสด แต่จะตรวจจากเลือดที่เตรียมเป็นแผ่นฟิล์มเลือด (blood smear) แล้วย้อมด้วยสีที่เหมาะสม ก่อนนำมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิด bright field ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์รายละเอียดต่างๆ ของเซลล์ทั้งภายนอกและภายในได้อย่างชัดเจน โดยสามารถจำแนกลักษณะความผิดปกติของขนาด รูปร่าง การเรียงตัวของเม็ดเลือดแดง และการตกตะกอนของสารบางชนิดในเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่เรียกว่า inclusion ชนิดต่างๆ รวมทั้งการตรวจพบเชื้อมาลาเรียที่อยู่ภายในเม็ดเลือดแดงได้
สำหรับเม็ดเลือดขาว ก็สามารถแยกชนิดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งยังสามารถบ่งชี้ถึงลักษณะที่ผิดปกติในเม็ดเลือดขาวได้อีกด้วย ส่วนเกล็ดเลือด นอกจากขนาดและรูปร่างแล้ว ยังบอกได้ถึงปริมาณของ granules ด้วย ซึ่งการตรวจตามมาตรฐานนี้ จะทำให้ประชาชนได้รับผลการตรวจวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำ
คำชี้แจง ยังระบุต่อไปด้วยว่า การตรวจอื่นๆ เช่น การวิเคราะห์โลหะหนัก ฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกัน และ/หรือจุลชีพรวมทั้งปรสิตที่อยู่ในเลือด ตามที่มีการอ้างว่าวิธี LBA สามารถบ่งชี้ได้นั้น ตามมาตรฐานงานเทคนิคการแพทย์ จะต้องตรวจวิเคราะห์โดยวิธีเฉพาะด้าน เช่น การตรวจทางพิษวิทยา เพื่อวิเคราะห์ปริมาณไอออนของโลหะหนักในเลือด กาตรวจทางเคมีคลินิกเพื่อวิเคราะห์หาระดับฮอร์โมนและสารน้ำอื่นๆ การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยาเพื่อตรวจสอบการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การตรวจทางจุลชีววิทยา และ/หรือปรสิตวิทยา เพื่อเพาะเชื้อและวินิจฉัยการติดเชื้อในระบบหรืออวัยวะต่างๆ เป็นต้น
“หลักการทดสอบแบบ LBA ยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือเพียงพอ จากข้อมูลที่มีการให้บริการ LBA ในต่างประเทศ พบว่า ในปี ค.ศ.2002 แพทย์ที่ทำการรักษาโดยไม่ใช้ยา (naturopath) ชาวออสเตรเลีย ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกปรับในฐานที่แอบอ้างว่าสามารถวินิจฉัยโรคจากการทำ LBA ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ และถูกสั่งห้ามประกอบวิชาชีพตลอดชีวิต” คำชี้แจงระบุในตอนหนึ่ง และว่า ในปี คศ.2005 State of Rhode Island, Providence Plantations, Department of Health, Division of Professional regulation ได้สั่ง ให้หมอนวด (chiropractor) หยุดการใช้ LBA และ State Board of Examiners in Chiropractic Medicine ได้ออกประกาศว่า LBA เป็นการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่มีประโยชน์และจัดเป็นการตรวจที่แสวงหาผลประโยชน์
รวมถึงในปี ค.ศ. 2011 หน่วยงานที่ชื่อ ว่า General Medical Council ประเทศสหราชอาณาจักร ได้ระงับใบประกอบวิชาชีพของแพทยท์ที่ใช้ LBA ในการวินิจฉัยผู้ปวย Lyme disease
คำชี้แจง ระบุด้วยว่า แม้ว่าจะมีการใช้ LBA กันมานาน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะในต่างประเทศในกรณีที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยโรค ซึ่งเมื่อพิจารณาด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ก็ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดเกี่ยวกับการแปลผลการตรวจวิเคราะห์และที่สำคัญไม่ใช่ศาสตร์และแนวปฏิบัติตาม มาตรฐานวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ดังนั้น ผู้ที่จะนํา LBA ไปใช้ในการวินิจฉัยโรคหรือภาวะผิดปกติต่างๆ ของ ร่างกาย รวมทั้งผู้รับบริการ ควรต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาอย่างยิ่ง
อ่านรายละเอียดเพิ่ม ที่นี่ หรืออ่านเอกสารเพิ่มเติมได้ตามไฟล์แนบ
- 1391 views