สภาการพยาบาลเปิดข้อมูล ‘พยาบาล’ ถูกลวนลาม-คุกคามทางเพศเป็นประจำ แนะอย่าอยู่คนเดียว แฉพฤติกรรมทราม ตั้งแต่แทะโลมถึงขั้นดึงไปกอด
นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล และผู้เชี่ยวชาญศาลยุติธรรมสาขาการพยาบาล กล่าวในเวทีเสวนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล นโยบายกระทรวงสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานพยาบาลส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับพยาบาลมากที่สุด
นางประภัสสร ยกตัวอย่างกรณีการคุกคามพยาบาลว่า สมัยที่เข้ามาทำคดีใหม่ๆ คดีแรกคือพนักงานเข็นเปลเมาแล้วโทรตามพยาบาลขึ้นไปข่มขืนแล้วฆ่าโดยหลอกว่าคนไข้กำลังจะคลอด เมื่อฆ่าเสร็จก็ออกไปนอนหลับที่ห้องพักในสภาพเลือดท่วมตัว ก่อนจะตื่นแล้วบอกว่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และรับสารภาพว่าเห็นพยาบาลในชุดสีขาวแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ หรืออีกคดีหนึ่งที่พยาบาลถูกไฟฟ้าช็อตด้วยเครื่องปั้มหัวใจจากฝีมือคนในโรงพยาบาลเช่นกัน แต่โชคดีถูกสายเสื้อในจึงไม่เป็นอะไร หรืออีกเคสหนึ่งคนไข้เข้าไปในโรงพยาบาลและขึ้นไปบนตึก พยาบาลเห็นท่าทางผิดสังเกตและเห็นว่าเหน็บมีดมาไว้ข้างหลังจึงรีบล็อคประตู และโทรเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ระหว่างนั้นคนร้ายหลบไปซ่อนตัวที่ห้องซักผ้า มีผู้ช่วยพยาบาลกำลังเดินไปเอาผ้าพอดีจึงถูกก่อเหตุที่ข้างซอกห้องผ้า ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับพยาบาล ฉะนั้นพยาบาลก็ไม่ควรอยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด
“พยาบาลถูกลวนลามและคุกคามทางเพศเป็นประจำ เริ่มตั้งแต่การแทะโลม หรือถึงขั้นดึงตัวเข้าไปกอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากสร้างความหวาดกลัวแล้ว ยังทำให้พยาบาลเกิดความรู้สึกถูกดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีด้วย โดยสิ่งที่สภาการพยาบาลรับอยู่เป็นประจำและอันดับหนึ่งคือพยาบาลถูกลวนลามทั้งทางวาจาและการกระทำ” นางประภัสสร กล่าว
นางประภัสสร กล่าวอีกว่า พยาบาลเป็นคนแรกที่จะต้องรองรับอารมณ์ของคนไข้ เช่น คนไข้อารมณ์ไม่ดีเพราะต้องรอการรักษาเป็นเวลานาน ตรงนี้แพทย์และพยาบาลจำเป็นต้องอธิบายว่าทำไมต้องรอ ศักยภาพโรงพยาบาลเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้คนไข้ลดระดับความรุนแรงของอารมณ์ลงมาได้ ยกตัวอย่างเคสคนไข้มาด้วยอารมณ์โกรธและต้องการพบแพทย์เฉพาะทางทันที โดยแพทย์ได้รักษาเบื้องต้นและนัดมาใหม่แต่คนไข้ไม่ยินยอม แพทย์จึงส่งต่อให้พยาบาลผู้ชายไปอธิบายต่อ แต่คนไข้ไม่พอใจและชกพยาบาลจนแตก เป็นเหตุให้ รปภ.และเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาล็อคตัวคนไข้ สุดท้ายคนไข้ไปแจ้งความว่าถูกรุมทำร้าย ซึ่งจากกรณีนี้จึงมีข้อเสนอว่าทุกโรงพยาบาลควรติดกล้องวงจรปิดเพื่อเป็นหลักฐานว่าใครผิดใครถูก และควรจัดหา รปภ.ปฏิบัติหน้าที่หน้าห้องฉุกเฉิน และระวังการปะทะกับคู่กรณี
“สำหรับพยาบาล อาจารย์อยากฝากเอาไว้ว่า ไม่ว่าพยาบาลจะยุ่งขนาดไหนก็ตามต้องคิดถึงหัวใจของคนรอ อารมณ์จะเกิดขึ้นจากการรอ โดยเฉพาะการรอโดยที่เขาไม่รู้ว่ารออะไร ฉะนั้นต้องมีคำตอบว่าเขารออะไร ต้องให้เหตุผลเขา”
นางประภัสสร กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เกิดกับพยาบาลมากที่สุดก็คือการพูดจาแทะโลมและการด่าทอ คือเมื่อคนมีทัศนคติว่าเงินเป็นสิ่งที่ใหญ่มากจึงนึกอยากจะด่าใครก็ด่า แน่นอนว่าหากเป็นหลักการของมหาตมะคานธี ลูกค้าคือพระเจ้า แต่ในวันนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าในขณะที่ลูกค้าเป็นพระเจ้านั้น บุคลากรของตัวเองก็มีความสำคัญ ฉะนั้นหากลูกค้าไม่สุภาพเราก็ควรมีสิทธิไม่ให้บริการได้เช่นกัน
- 911 views