สคอ.ห่วงผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูง พบข้อมูลการตายปี 2559 จำนวน 22,356 ราย 61 ศพต่อวัน เร่งสร้างเกราะป้องกัน เรียนรู้ความสำเร็จชุมชนปลอดภัยระดับโลก ชี้ “ชุมชนบ้านน้ำล้อม” เทศบาลเมืองน่าน จ.น่าน ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นชุมชนปลอดภัยระดับโลก เมื่อปี 2556 เป็นลำดับที่ 316 ของโลก และเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ เผยปัญหาแก้ไขได้ด้วยเครือข่าย หนุนเสริมนโยบายด้วยมาตรการชุมชน
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ที่ จ.น่าน ในการประชุมในการประชุม “สานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์” เพื่อการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เขต 1 จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท.) บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย และสมาคมสื่อช่อสะอาด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่เผยแพร่สู่สาธารณะ
นายพิภัช ประจันเขตต์
นายพิภัช ประจันเขตต์ ปลัดจังหวัดน่าน กล่าวว่า การเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสื่อมวลชนและเครือข่ายด้านประชาสัมพันธ์ ที่เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนน ให้เกิดความตระหนัก รับรู้ และมีจิตสำนึกความปลอดภัย จนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการขับขี่ที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหา โดยมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ทั้งระดับนโยบาย อำนวยการ และปฏิบัติการ โดยบูรณาการการทำงานตาม 5 เสาหลัก คือ
1. การจัดการความปลอดภัยทางถนน : การบริหารความปลอดภัย โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด สู่ระดับอำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย ลดจุดเสี่ยง แก้ไข ไม่ให้เกิดซ้ำ
3. ยานหานะปลอดภัย รถทุกประเภท ที่ใช้ต้องพร้อมและถูกต้องตามกฎหมาย
4. การสร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน นำมาตรการองค์กรสร้างความปลอดภัยทางถนน ปลุกจิตสำนึก ควบคู่กับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้
5. การตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินต้องเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จากข้อมูลการตายปี 2559 จำนวน 22,356 ราย หรือ 61 ศพต่อวัน มีผู้พิการรายใหม่กว่า 5,000 ราย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศหลายแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นช่องทางของการนำข้อมูลและผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนผ่านสื่อมวลชน โดยจะมีการนำลงพื้นที่เรียนรู้ เพื่อสื่อมวลชนและเครือข่ายนำข้อมูล ผลงาน วิธีการ และกลไกการทำงานเผยแพร่สู่สาธารณะเกิดกระแสขับเคลื่อนการทำงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน นอกเหนือจากบทบาทของภาครัฐและเอกชนแล้ว ท้องถิ่นชุมชนก็มีความสำคัญเพราะอยู่ใกล้กับปัญหามากกว่าไม่ว่าจะเป็นจุดเสี่ยงหรือพฤติกรรมเสี่ยง ยิ่งระดับครอบครัวด้วยแล้วยิ่งมีความจำเป็นหากไม่ระมัดระวังอาจถึงขึ้นต้องสูญเสียลูกหลานได้จากอุบัติเหตุทางถนน
นายชลิน วิชาญ ประธานชุมชนบ้านน้ำล้อม ต.ในวียง อ.เมือง จ.น่าน กล่าวว่า ชุมชนบ้านน้ำล้อม เป็น 1 ใน 31 ชุมชนของเทศบาลเมืองน่าน ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นชุมชนปลอดภัยระดับโลก เมื่อปี 2556 เป็นลำดับที่ 316 ของโลก และเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง คือการใช้ระบบเครือญาติ ช่วยเหลือ ให้โอกาส เอื้ออาทรแบ่งปัน มีความรักความสามัคคี ทำให้ชุมชนเข้มแข็งสู่การเป็นชุมชนปลอดภัย ซึ่งมุ่งเน้น 5 เรื่องหลัก ได้แก่
1. รณรงค์สวมหมวกนิรภัยในชุมชน การสำรวจและปลูกจิตสำนึกให้คำนึงถึงความปลอดภัย อบรมให้ความรู้ มีมาตรการที่ชัดเจน
2. ป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุโดยชุมชนมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีมของ เทศบาลเมืองน่าน โรงพยาบาลน่าน ชุมชนและครอบครัว ที่สำรวจข้อมูลผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการหกล้มในชุมชน ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและร่วมกันดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
3. ถนนปลอดภัย มีการสำรวจชุมชน สำรวจหาจุดเสี่ยงต่อการใช้รถใช้ถนน
“การทำงานจะระดมทีมกลุ่มเยาวชนและทีมความปลอดภัยในชุมชน สำรวจจุดเสี่ยง ซึ่งพบจุดเสี่ยง 8 จุด และได้แก้ไข เช่น ตัดมุมรั้วจากทึบเป็นโปร่ง เสริมความเด่นชัดของลวดสลิงข้างถนน ติดกระจกนูนทางแยก ติดตั้งป้ายเตือน และทาสีตีเส้นในตรอกซอยถนน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มีการติดตามผลการดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไข” นายชลิน กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังปัญหาสังคมที่เกิดในชุมชน ปัญหายาเสพติด ลักขโมย ปัญหาเด็กเยาวชนมั่วสุม กำหนดมาตรการชุมชนปลอดภัยห้ามจำหน่ายเหล้าเบียร์ จัดสายตรวจจักรยานชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังปัญหาสังคม เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจัยความสำเร็จของ “ชุมชนปลอดภัย” คือ การบริหารจัดการชุมชนที่เข้มแข็ง การรู้ข้อมูลเชิงลึก มีระบบเครือข่าย แก้ไขปัญหาทุกมิติ มีมาตรการชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชน มีผู้นำที่เข้าใจ รู้เท่าทันปัญหา รับผิดชอบและโปร่งใส จึงทำให้เกิดความสงบสุข ความปลอดภัยเกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
- 105 views