กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า สนับสนุนยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดที่มีมาตรฐานใน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี”
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเยี่ยมศูนย์บริบาลสุนัขจรจัดเทศบาลเมืองแสนสุข อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ว่า รัฐบาล ได้จัดทำ “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี” ที่ทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย โดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่รวมเอาแนวทางการปฏิบัติ สุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำสู่การมีสุขภาพที่ดี มีเป้าหมายคือ “ไม่มีคนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า”
โดยการจัดระบบศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงานกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศ ตั้งเป้าดำเนินการทุกกลุ่มจังหวัดต้องมีอย่างน้อยหนึ่งแห่ง เพื่อใช้เป็นต้นแบบศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดที่มีมาตรฐาน ขณะนี้นำร่องแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช กรุงเทพมหานคร
สำหรับศูนย์บริบาลสุนัขจรจัดเทศบาลเมืองแสนสุข ตั้งขึ้นในปี 2555 เพื่อควบคุมปริมาณสุนัขจรจัดในเขตเทศบาลเมือง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และค้นคว้าวิจัย รองรับสุนัขได้ 500 ตัว มีมูลนิธิ The man that rescues dogs ดูแลเรื่องการเลี้ยง ทำความสะอาด ให้อาหาร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ดูแลเรื่องของสุขภาพ วัคซีน การทำหมัน การรักษา โดยการบริหารจัดการแบ่งเป็น 5 ส่วน ดังนี้ 1.คอกกักกันโรค ตรวจสุขภาพฉีดวัคซีนป้องกันโรคสำหรับสัตว์ที่เข้ามาใหม่ 2.คอกสุนัขทั่วไปที่ผ่านการตรวจโรคและทำวัคซีนแล้ว 3.คอกอนุบาล สำหรับสุนัขที่มีลูกอ่อน หรือสุนัขเด็ก 4.คอกสัตว์ป่วย เพื่อทำการรักษา ป้องกันโรคระบาด และ5. คอกสัตว์พิการ ทั้งนี้ นับเป็นตัวอย่างของศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จากความร่วมมือของรัฐ เอกชน องค์กรเอกชน
ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2560 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 6 ราย ในพื้นที่ จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 2 ราย สมุทรปราการ บุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 ราย โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่จากการไม่ฉีดวัคซีนหลังถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน หรือฉีดไม่ครบตามนัด ซึ่งสิ่งสำคัญในการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์คือการฉีดวัคซีนในสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคสำคัญคือสุนัขและแมว ประมาณ 6-7 ล้านตัวทั่วประเทศ การควบคุมโรค ณ จุดเกิดโรค เมื่อพบโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนการดูแลในคน เน้นรณรงค์ให้ผู้ถูกสุนัข แมวกัดข่วน เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกราย อย่างครบถ้วนตามโปรแกรมการนัด หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
- 42 views