ผู้ตรวจราชการฯ เขต 5 ชู“อาหารปลอดภัย”ผลงานเด่นปี 2560 เน้นประสานเครือข่ายทั้งรัฐ-เอกชน ส่งเสริมอาหารปลอดสารเคมีทั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยลดการเกิดอุจจาระร่วงจาก 1,822 คน/ประชากรแสน เหลือ 1,200 คน/ประชากรแสน พร้อมส่งเสริม“เมนูเทวดา”ลดหวานมันเค็ม ช่วยลดผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่จาก 2.4% เหลือ 1%
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 (8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี, นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) กล่าวถึงผลงานเด่นของเขต 5 ในปีงบประมาณ 2560 ว่า ได้เน้นเรื่องอาหารปลอดภัย (Food Safety) เนื่องจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2559 เขต 5 มีปัญหาผู้ป่วยทางเดินโรคอาหารทั้งอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ เพราะจากการตรวจสารปนเปื้อนในผัก ผลไม้ น้ำบริโภคและน้ำแข็ง พบว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมีและแบคทีเรียเยอะซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหา โดยโรคอุจจาระร่วงมีอัตราส่วน 1,822 ต่อประชากรแสนคน หรือหลักแสนรายจากประชากรในเขต 5 ล้านคน ขณะที่อาหารเป็นพิษมีอัตราส่วนอยู่ที่ 125 ต่อประชากรแสนราย
ด้วยเหตุนี้ ทางเขตจึงหยิบยกประเด็นนี้เป็นปัญหาว่าจะพัฒนาอย่างไรจึงจะลดปริมาณคนป่วยลง เพราะแม้โรคอุจจาระร่วงไม่ทำให้ถึงตาย แต่ก็ทำให้ไปทำงานไม่ได้ เสียเวลา เสียค่ารักษาพอสมควร ดังนั้นถ้าลดอัตราการป่วยก็น่าจะประหยัดงบประมาณในการดูแลไปได้เยอะ นอกจากนี้เขต 5 เป็นเขตท่องเที่ยว เรื่องอาหารการกินก็เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวมาบริโภคและจะมีปัญหาด้วย ดังนั้นจึงต้องพัฒนาอาหารให้ดีเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้อย่างสบายใจ
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานว่าใช้ยุทธศาสตร์ 4S คือ 1.Smart Network การสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง ทั้งภาครัฐซึ่งประกอบด้วยกระทรวงต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัย ภาคประชาชน ได้แก่ผู้ประกอบการ กลุ่มเอ็นจีโอ และเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มต่างๆ
2.Smart Product ก็คืออาหารที่รับรองคุณภาพโดยจะมีสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น สัญลักษณ์ Q ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.Smart Surveillance การเฝ้าระวังในการตรวจหาอาหารปนเปื้อน และ 4.Smart Information การนำข้อมูลอาหารเอาใส่ในเว็บไซต์เป็น QR Code ซึ่งผู้บริโภคจะได้ทราบข้อมูลแหล่งผลิตว่าเป็นอย่างไร
“เราเริ่มจากการคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตทั้งหมด เริ่มจาก จ.นครปฐม ว่าจะส่งเสริมอาหารปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางหรือผู้ผลิตได้อย่างไร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมคนก่อนก็เห็นความสำคัญและเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาคุย รวมทั้งยกเป็นวาระเรื่องนครปฐมเป็นเมืองอาหารปลอดภัย ท่านก็วางแนวอย่างนี้ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลเป็นผู้ให้ข้อมูล และเรายังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากรในการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ว่ามีปัญหาตรงไหนแล้วคอยรายงาน”นพ.พิศิษฐ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของกลางทางและปลายทางก็เริ่มจากอาหารของคนไข้ในโรงพยาบาล 66 แห่งในเขต 5 วัตถุดิบที่ซื้อต้องตรวจก่อนว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ รวมทั้งเชิญกลุ่มตลาดสด พ่อค้าแม่ค้า พ่อค้าคนกลาง มาคุยเรื่องการขายอาหารปลอดภัย วัตถุดิบปลอดภัย รวมทั้งคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารด้วย เริ่มต้นที่ จ.นครปฐม จากนั้นก็กระจายไปจนตอนนี้ดำเนินการครบ 8 จังหวัดแล้ว
“Key success คือผู้ว่าราชการจังหวัดมีส่วนสำคัญมากในการสนับสนุนลงไปประสานทุกฝ่ายให้เกิดความร่วมมือ เราไม่ได้ห้ามแต่จะส่งเสริมให้คนที่ทำตามนโยบายนี้ได้รับการตอบรับที่ดี เช่น เราจะซื้อผลผลิตของเขาโดยไม่ทิ้งกัน ก็ทำให้เกิดความร่วมมืออย่างกว้างขวาง ช่วยกระตุ้นเกษตรกรผู้เพาะปลูกเพราะผักปลอดสารพิษจะราคาสูงกว่าท้องตลาดแต่เราก็ซื้อ จนตอนนี้มีอาหารปลอดภัยขายมากขึ้นทั้งในโรงพยาบาล ขยายไปในตลาด บางทีก็ต้องไปจองกันถึงไร่เลย” ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กล่าว
นอกจากนี้แล้ว ทางเขต 5 ยังเชื่อมโยงปัญหาโรคเบาหวานความดันควบคู่ไปกับเรื่องอาหารปลอดภัย โดยส่งเสริมอาหารปลอดภัยและลดหวานมันเค็ม แต่ละพื้นที่จะมีเมนูสุขภาพที่เรียกว่าเมนูเทวดา คือกินแล้วสุขภาพดีไม่ป่วยเพราะออกแบบให้ลดหวานมันเค็มลง พร้อมแนะนำอาหารประเภทนี้ให้กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานความดันและกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งช่วยประสานไปยังสถานที่ราชการทุกแห่งแนะนำให้ซื้อเพราะรับรองแล้วว่าเป็นร้านที่มีอาหารปลอดภัย เช่น จ.เพชรบุรี มีของขึ้นชื่อคือขนมหม้อแกง ก็ได้สนับสนุนขนมหม้อแกงที่ลดน้ำตาลและไขมันลงแต่ยังคงรสชาติที่อร่อยเหมือนเดิม และมีการสนับสนุนเวลาหน่วยงานราชการจัดเลี้ยงอาหารว่างก็จะซื้อจากร้านพวกนี้ คนที่ผลิตก็ได้รับกำลังใจว่าได้รับการสนับสนุนที่ดี เป็นต้น
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ผลจากการดำเนินงานมาได้ 1 ปีพบว่าตัวเลขอัตราการเกิดอุจาระร่วงลดลงเหลือ 1,200 ต่อประชากรแสน อาหารเป็นพิษลดลงเหลือ 90 ต่อประชากรแสน ขณะที่อัตราการเกิดโรคเบาหวานรายใหม่ลดลงจาก 2.4% เหลือ 1% ขณะเดียวกัน จากการประเมินมูลค่าจากการลดการเจ็บป่วยลง พบว่าช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ประมาณ 8 ล้านบาท และอาหารเป็นพิษช่วยประหยัดลงได้ 1 ล้านคน ส่วนการทำเกษตรปลอดสารเคมีมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านบาท
“เรื่องพวกนี้เป็นแนวโน้มว่าถ้าเราควบคุมอาหารให้ดีก็จะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อสุขภาพดี แล้วมันไม่ได้ทำยาก สำคัญคือการติดตามและให้ความร่วมมือกัน เชื่อว่าถ้าดำเนินการอย่างต่อเนื่องตัวเลขก็จะดีขึ้นกว่านี้อีก”นพ.พิศิษฐ์ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2561 นั้น จะขยายจากโรงพยาบาลไปยังโรงเรียนทุกแห่ง จากนั้นคือสถานที่ราชการทุกแห่ง รวมทั้งขยายเมนูเทวดาให้มากขึ้น ส่วนภาคการผลิตก็จะส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตมากขึ้นเพราะตอนนี้บางจังหวัดผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาล โดยจะออกแบบเมนูล่วงหน้าแล้วไปคุยกับเกษตรกรให้ผลิตวัตถุดิบโดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีสารเคมีในการผลิต และสุดท้ายจะขยายความร่วมมือไปยังร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังให้เข้ามาร่วมขบวนกันต่อไป
- 510 views