ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็น สปสช.ย้ำดูแลผู้ใช้บัตรทอง 48 ล้านคนให้รับรู้สิทธิของตัวเอง แต่คงไม่เข้าไปเน้นกลุ่มที่ลงทะเบียนคนจนมากขึ้นเป็นพิเศษเพราะเป็นนโยบายในส่วนของรัฐบาล
นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์
นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่าแม้รัฐบาลจะเปิดลงทะเบียนคนจนและมีผู้มาลงทะเบียนกว่า 11 ล้านคน แต่ในส่วนของคณะอนุกรรมการฯ คงไม่ได้เข้าไปประชาสัมพันธ์หรือเน้นในส่วนนี้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะโดยหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ก็ชัดเจนว่าได้รับมอบหมายให้สื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มประชาชนในความรับผิดชอบของ สปสช. ซึ่งมีอยู่กว่า 48 ล้านคน ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 44, 45 และ 46 ขณะที่เรื่องบัตรคนจน 11 ล้านคนเป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งทางอนุกรรมการฯ คงไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในส่วนนี้
“ผมสื่อสารและรับความคิดเห็นเพื่อให้คนทั้ง 48 ล้านคนได้รับรู้สิทธิและคุ้มครองสิทธิของตัวเอง รับฟังความคิดเห็นเพื่อจะนำไปพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐาน และมาตรา 46 ก็คือการจัดสรรเงินกองทุน ซึ่งเงินกองทุนก็มาจากต้นทุนรายหัวของคน 48 ล้านคน เพราะฉะนั้นก็ต้องคุยเรื่อง 48 ล้าน ส่วนเรื่องบัตรคนจนเป็นนโยบายของรัฐบาล คงไม่เกี่ยวกัน” นพ.จรัล กล่าว
นพ.จรัล กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของประเด็นเรื่องการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบรายหัว และปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลนั้น คงต้องเอาข้อมูลในทุกๆ มิติมาพิจารณา เพราะโครงสร้างของระบบสุขภาพของไทยที่พัฒนามานานกว่า 50-60 ปีไม่ได้มีพื้นฐานที่สมดุลว่าในทุกพื้นที่มีจำนวนโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาลในสัดส่วนที่เหมาะสม บางจังหวัดมีประชากรน้อยแต่มีโรงพยาบาลทั่วไป 2-3 แห่ง ขณะที่บางจังหวัดมีประชากรมากแต่ก็มีโรงพยาบาลจังหวัดเพียงแห่งเดียว ดังนั้นการพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนตามมาตรา 46 ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็จะมีทั้งส่วนของโรงพยาบาลที่ได้เงินน้อยลงหรือได้มากขึ้น
“อันนี้ก็ต้องคุยกันเพราะพื้นฐานโครงสร้างมันไม่ได้เหมือนกันทั้งประเทศ ไม่ได้สมดุลว่าจัดสรรแบบนี้ แยกเงินเดือนแล้วใครได้มากขึ้นใครได้น้อยลง หรือแม้แต่การจัดสรรเงินกองทุนตัดระดับประเทศ ระดับเขต ระดับจังหวัด ก็มีทั้งคนได้คนเสีย มันไม่มีตรงไหนพอดี เพราะฉะนั้นก็ต้องมีระบบที่จะมาดูแลให้มันสมดุล” นพ.จรัล กล่าว
- 5 views