สำนักงานประกันสังคม รับข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประกันตนทวงถามกรณีได้รับความเสียหายจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ด้านเลขาธิการ สปส. แจง ข้อเรียกร้องอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดจะได้ข้อยุติ หลังการประชุมบอร์ดประกันสังคม 14 พ.ย. 60 นี้
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคประชาชน มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พร้อมตัวแทนผู้ประกันตน ประมาณ 20 คน เข้ายื่นหนังสือเมื่อวันที่ 10 พ.ย.60 (ดูข่าว ที่นี่) โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ซึ่ง สปส.ขอชี้แจงความคืบหน้าของแต่ละข้อดังนี้
ข้อ 1 ขอให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการตามมาตรา 63 (7) ค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่ง สปส. มีการแก้ไข พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ปัจจุบันยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานประกันสังคมได้มีการเร่งดำเนินการนำเรื่องเสนอคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ในวันที่ 14 พ.ย. 2560 นี้ หลังจากนั้นจะได้ส่งเรื่องให้กองกฎหมายออกประกาศ
ข้อ 2 ขอให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ และเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานประกันสังคมขอรับเรื่องไว้เพื่อพิจารณา
ข้อ 3 กรณีสำนักงานประกันสังคมมีแนวทางเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเห็นด้วยที่จะเพิ่มฐานค่าจ้าง แต่ห่วงผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ต้องรับภาระมากขึ้น สำนักงานประกันสังคมชี้แจงว่า การเก็บเงินเพิ่ม สปส.ต้องฟังความคิดเห็นจากผู้ประกันตน นายจ้าง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สาเหตุที่เก็บเพิ่มเนื่องจาก เพิ่มความมั่นคงทางสังคม และผู้ประกันตน เพราะผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย เช่น บำนาญชราภาพ เงินทดแทนการขาดรายได้ เป็นต้น ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 อาจจะมีแนวทางการตรวจสอบรายได้จากกรมสรรพากร หรือให้ผู้ประกันตนแจ้งมาว่ามีรายได้เท่าไหร่จะให้หักเท่าใด ซึ่งจะตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคล
และข้อ 4 ขอให้สำนักงานประกันสังคมทบทวนการขยายอายุรับบำนาญชราภาพ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี ไม่เห็นด้วยเนื่องจากผู้ประกันตนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีสามารถทำงานได้ไปจนถึงอายุ 60 ปี ซึ่งจะได้ค่าจ้างตามปกติ แต่สำหรับคนที่ออกจากงานก่อน 60 ปี ก็สามารถรับเงินชราภาพได้ จึงขอให้ใช้หลักเกณฑ์เดิม สำนักงานประกันสังคมชี้แจงว่า อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกันตน ผู้มีส่วนได้เสีย และครั้งสุดท้ายจะจัดที่กรุงเทพฯ โดยมีการถ่ายทอดสด ซึ่งจะนำข้อมูลทั้งหมดมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป
- 6 views