แพทย์เตือนกลุ่มเสี่ยง 4F “ผู้หญิง-อ้วน-วัย40อัพ-กินแล้วจุกแน่นบ่อย”ระวังเสี่ยงเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ภัยเงียบคุกคามคุณภาพชีวิตของหญิงวัยกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว แนะสังเกตอาการจุกแน่นชายโครงขวาและลิ้นปี่บ่อยหลังอาหาร อย่าคิดว่าแค่โรคกระเพาะอาจเป็นสัญญาณเตือนอันตราย ควรรีบพบแพทย์

นพ.ทวี รัตนชูเอก

นพ.ทวี รัตนชูเอก แพทย์ทรงคุณวุฒิ หน่วยส่องกล้องทางเดินอาหารศัลยศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใดๆ เกิดขี้นอย่างเงียบๆ โดยไม่รู้ตัว พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยร้อยละ 5-10 ของประชากร เป็นโรคที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่วพบมากใน 4 กลุ่มเสี่ยง 4F คือ

1) พบมากในผู้หญิง (Female) มากกว่าเพศชายประมาณ 2-3 เท่า

2) พบมากในวัย 40 ปีขึ้นไป (Forty) หรือวัยกลางคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ

3) พบมากในคนอ้วน (Fatty) การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงทำให้มีคอเลสเตอรอลสะสมในถุงน้ำดีมากเกินไป

และ 4) พบมากในผู้ที่มีอาการจุกแน่นบ่อยๆ หลังรับประทานอาหารไขมันสูง (Fat Intolerance) และมีอาการปวดท้องบ่อยๆ หลังรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย ก็สามารถเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน

นิ่วในถุงน้ำดีหากไม่รีบรักษา จะทำให้นิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดี ตกไปในท่อน้ำดี กลายเป็นนิ่วในท่อน้ำดี มีความยุ่งยากแก่ในรักษา และเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต นิ่วในถุงน้ำดีมีสาเหตุมาจากการตกตะกอนของคอเลสเตอรอล เกลือแร่ และโปรตีนที่ไม่สมดุลในน้ำดี อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี คือ จุกแน่นบริเวณชายโครงขวาและลิ้นปี่ ลักษณะการจุกแน่นนี้ ให้พึงระวังไว้ก่อนว่าไม่ใช่โรคกระเพาะอาหาร แต่อาจเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีเพราะตับและถุงน้ำดีจะอยู่ใต้ชายโครงขวา ส่วนใหญ่จะเกิดหลังจากรับประทานอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาหารไขมันสูง และอาจมีเพิ่มอาการเจ็บขึ้นเรื่อยๆ ไม่ดีขึ้นด้วยการรับประทานยาลดกรด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้โดยการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาของผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจไปตรวจ เพราะยังมีความเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร ก็ไปซื้อยาลดกรดหรือยารักษาโรคกระเพาะมารับประทานเอง เมื่อมาพบแพทย์ก็อักเสบและมีอาการรุนแรงมากแล้ว จนก้อนนิ่วตกไปในท่อน้ำดีแล้ว ซึ่งจะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น รวมถึงสูญเสียเงินทองในการรักษามากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัยทำงานที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องรู้จักสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง และเฝ้าระวังอาการอย่างระมัดระวัง ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีอาการก็ตาม” นพ.ทวี กล่าว และเสริมว่า

การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี ปัจจุบันเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาไปมาก จากการผ่าตัดใหญ่ในอดีตที่จะต้องเปิดแผลหน้าท้องใต้ชายโครงขวาประมาณ 1 คืบ แล้วตัดถุงน้ำดีออกไป ใช้เวลาพักฟื้นนาน 7-10 วัน มาเป็นการผ่าตัดส่องกล้อง ที่มีความสะดวก และแผลเล็กจนแทบมองไม่เห็น ใช้เวลาพักฟื้น 2-3 วันก็สามารถกลับไปทำงานได้แล้ว

นอกจากนี้ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะทำการตรวจการทำงานของตับด้วยว่ามีการทำงานที่ผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากแพทย์อาจสงสัยได้ว่าผู้ที่มารักษานิ่วในถุงน้ำดี อาจมีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย จะได้ทำการผ่าตัดออกภายในครั้งเดียว ซึ่งพบว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีจะมีนิ่วในท่อน้ำดีด้วย สำหรับการดูแลตัวเองหลังการรักษา ควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารที่มีไขมัน 3-4 สัปดาห์ ลดการทำกิจกรรมที่หักโหมทางร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และงดการสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดต่างๆ เพราะเมื่อไม่มีถุงน้ำดีแล้ว จะส่งผลให้ระบบการย่อยไขมันบกพร่องลงไปด้วย

ทั้งนี้ หน่วยส่องกล้องทางเดินอาหารศัลยศาสตร์ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ที่สามารถทำการผ่าตัดที่ยากที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญขั้นสูง เช่น การผ่าตัดนิ่วในท่อน้ำดีขนาดใหญ่ด้วยเลเซอร์ และการวินิจฉัยมะเร็งในท่อน้ำดีด้วยการส่องกล้องภายในท่อน้ำดีอีกทั้งยังเป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางของกระทรวงสาธารณสุข เปิดดำเนินการมากว่า 20 ปี ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงพยาบาลส่วนภูมิภาค และโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ไปช่วยดูแลสุขภาพประชาชนไทยทั่วประเทศมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถี ยังมีห้องผ่าตัดและส่องกล้องเพียงห้องเดียว และสามารถรองรับผู้ป่วยได้ในจำนวนจำกัดเพียง 1,000 รายต่อปี นอกจากผู้ป่วยในแล้วยังมีผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดต้องรอคิวนานประมาณ 1-2 เดือน บางคนไม่สามารถรอได้ ทางโรงพยาบาลจะพิจารณาว่าผู้ป่วยคนไหนด่วนก็จะเร่งรักษาก่อน ในอนาคตเมื่อตึกใหม่สร้างเสร็จ และมีอุปกรณ์ครบถ้วนเราจะมีห้องผ่าตัดและส่องกล้อง 8 ห้อง สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น การประสานงานจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็สามารถทำได้เร็วขึ้น จากหนึ่งสัปดาห์ อาจลดเวลาลงเหลือ 1-2 วันผู้ป่วยก็สามารถรับการรักษาได้แล้ว

ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมแบ่งปันน้ำใจสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ผ่านมูลนิธิ รพ.ราชวิถี บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา รพ.ราชวิถี ประเภทบัญชี ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 051-2-16322-1 หรือ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02–3548138 ต่อ 3217-9