ตีแผ่สถานการณ์ความขัดแย้งผู้ให้-ผู้รับบริการ พบตลอด 20 ปี มีการฟ้องร้องคดีทั้งสิ้น 499 คดี สิ้นสุดแล้ว 68 คดี กระทรวงสาธารณสุข ชนะ 47 คดี
นพ.อิทธิพล สูงแข็ง
นพ.อิทธิพล สูงแข็ง สาธารณสุขนิเทศก์เขตบริการสุขภาพที่ 8 และผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข กล่าวในเวทีเสวนา หัวข้อปัญหาหรือโอกาส : จากข้อมูลสะท้อนกลับสู่การพัฒนาความปลอดภัยบริการ (2P Safety Goals) ซึ่งอยู่ภายในงานการสัมมนาเครือข่ายคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการ ประจำปี 2561 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560 ตอนหนึ่งว่า หน่วยบริการที่ให้บริการเป็นจำนวนมากก็จะยิ่งเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการมากขึ้นเช่นกัน โดยสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่าระดับความรุนแรงของความขัดแย้งมีมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเพราะทุกวันนี้เป็นโลกที่ไร้พรมแดนและปัญหามีความสลับซับซ้อน ซึ่งผู้รับบริการก็มีความคาดหวังต่อการบริการมาก ขณะที่ผู้ให้บริการก็มีภาระงานที่มากและเหนื่อยล้า
นพ.อิทธิพล กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ได้รับผลกระทบทางการแพทย์และสาธารณสุขว่า จากการรวบรวมข้อมูล 13 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2559 พบว่ามีผู้ที่เสียชีวิต 4,336 ราย พิการ 1,239 ราย และได้รับบาดเจ็บ 2,646 ราย โดยในจำนวนนี้เข้าเกณฑ์พิจารณาชดเชยตาม มาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทั้งสิ้น 8,221 ราย โดยกองทุนจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 1,343,141,313 บาท (1,343 ล้านบาท) เฉลี่ยปีละ 100 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์การฟ้องร้องแพทย์นั้น จากสถิติปี 2539 จนถึงข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค.2559 พบว่ามีทั้งสิ้น 499 คดี แบ่งเป็นคดีแพ่ง 287 คดี คดีอาญา 41 คดี คดีผู้บริโภค 168 คดี และคดีปกครอง 3 คดี ซึ่งจากตัวเลขคดีที่ถึงที่สิ้นสุดแล้ว (ชั้นฎีกา) พบว่ามีทั้งสิ้น 68 คดี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชนะคดี 47 คดี แพ้ 21 คดี และมีถึง 164 คดีที่เจรจาไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ ส่วนสาเหตุของการฟ้องคดี ส่วนใหญ่หรือมากกว่า 50% มาจากการรักษาและวินิจฉัยที่ผิดพลาด รองลงมา 24% คือการคลอด สาเหตุอื่นๆ อาทิ ไม่เอาใจใส่ดูแล แพ้ยา ผิดมาตรฐาน รวมทั้งอุปกรณ์มีปัญหา
นพ.อิทธิพล กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนำมาสู่การตั้งศูนย์สันติวิธีสาธารณสุขขึ้น โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นองค์กรแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีและส่งเสริมสันติวัฒนธรรม ซึ่งมี 2 พันธกิจหลัก ได้แก่ Patient and Personnel Safety (2P Safety) และ Conflict Management เป้าหมายคือลดความถี่และความรุนแรงของการร้องเรียนทางการแพทย์
“เมื่อพิจารณาจะพบว่าต้นเหตุของการฟ้องร้องมาจากความไม่ไว้วางใจระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี และความต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขระบบบริการ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาของศูนย์ฯ คือการจัดการความขัดแย้งมุ่งสู่ความสมานฉันท์ โดยให้น้ำหนักที่การได้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์กลับคืน โดยขณะนี้ศูนย์ฯ ได้อบรมเจ้าหน้าที่ไปแล้ว 3,414 ราย กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งประเทศเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง” นพ.อิทธิพล กล่าว
สำหรับความคาดหวังของ สธ.ในหลักการ 2P Safety มีด้วยกัน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.สถานพยาบาลของ สธ.ทุกแห่ง สามารถบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.ใช้หลักการจัดการความขัดแย้งมุ่งสู่ความสมานฉันท์ 3.ดูแลทั้งด้านผู้ป่วยและบุคลากรของ สธ. โดยแต่ละโรงพยาบาลจะมีการเซ็ตระบบ Rapid Response Team (RRT) ขึ้นมา และมีการตั้งทีมเฉพาะกิจในการเจรจาไกล่เกลี่ย
ทั้งนี้ มีอำนาจหน้าที่หลักคือ เฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่มีแนวโน้มจะบานปลายถึงขั้นร้องเรียนหรือฟ้องร้อง หาข้อมูลและวางแผน รวมถึงดำเนินการตามกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย ป้องกันเยียวยาและฟื้นคืนความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยต่อไป
- 1001 views