รพ.พระนั่งเกล้าชี้โครงการ “ส่งยาถึงบ้าน” ช่วยคนไข้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แถมยังลดความแออัดในโรงพยาบาล ย้ำเป็นรูปแบบที่ดีสามารถทำได้กับทุกโรงพยาบาล
นพ.ประสิทธิ์ มานะเจริญ ผู้อำนวยการ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวถึงโครงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ (Drug Delivery Address) ว่าเป็นโครงการที่เริ่มทำตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ทำกับกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ซึ่งแพทย์ประเมินแล้วว่าอาการคงที่ แค่นัดมาตรวจ 3-6 เดือน/ครั้ง โดยระหว่างนั้นต้องได้รับยาสม่ำเสมอและคนไข้ไม่สะดวกเดินทางมารับที่โรงพยาบาล ก็จะใช้การจัดส่งยาทางไปรษณีย์แทน
“ขั้นตอนคือคนไข้ต้องไปแจ้งได้ที่ทั้งห้องตรวจโรคหรือห้องยาว่าอยากรับยาทางไปรษณีย์ แพทย์จะประสานกับเภสัชกรว่าคนไข้ควรได้รับยาอะไร อย่างไร พอถึงเวลาก็ใส่กล่องพัสดุไปรษณีย์ส่งไปที่บ้าน คนไข้จ่ายค่าส่งแล้วก็ไม่ต้องมารับยาอีก 3-6 เดือน” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า คนไข้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นผู้สูงอายุซึ่งเวลาเดินทางมาโรงพยาบาลในแต่ละเดือนก็ต้องมีญาติมาด้วย 1-2 คน มีค่าใช้จ่ายค่ารถ ค่าอาหาร ฯลฯ ตกครั้งละไม่น้อยกว่า 500-1,000 บาท แต่หากเข้าร่วมโครงการก็จะมีค่าใช้จ่ายในการจัดส่งทั้งค่ากล่อง ค่าอากรแสตมป์ ค่าบริการ รวมแล้ว 100 บาท/ครั้ง ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการเดินทางมารับยาเอง ในขณะที่โรงพยาบาลเองก็ได้ประโยชน์ช่วยลดการแออัดในโรงพยาบาลด้วย
ทั้งนี้ปัจจุบัน รพ.พระนั่งเกล้ามีคนไข้ที่รับการส่งยาทางไปรษณีย์ 200 คน คิดเป็น 11% ของคนไข้ที่มาโรงพยาบาลเป็นประจำ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่เลือกจะเข้ามารับยาที่โรงพยาบาลเองนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคน บางคนยังอยากมาเพราะจะได้มาหารือ ขอคำแนะนำ ทำกายภาพ หรืออยากมาตรวจโรคอื่นด้วย แต่คนที่อาการปกติแค่รับยาเฉยๆ ก็ไม่มา
“ปัญหาที่เจอคือคนไข้รับยาไปแล้วมักทำหายหรือฉลากหลุดไป แบบนี้ก็โทรปรึกษามาที่โรงพยาบาลได้หรือไปปรึกษาที่คลินิกหมอครอบครัวใกล้บ้านก็ได้ หรือถ้าอาการเปลี่ยนแปลง มีอาการแทรกซ้อน มีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาหรือจำเป็นต้องเปลี่ยนยา ก็สามารถมาโรงพยาบาลได้ทันทีเพราะถือว่าเป็นคนไข้เก่า สามารถเข้าสู่ระบบนัดได้เลย” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ผู้อำนวยการ รพ.พระนั่งเกล้า กล่าวอีกว่า ในส่วนของภาระงานของเจ้าหน้าที่นั้น ถือว่าไม่มากไปกว่าเดิม คนไข้ 200 คน จะต้องส่งยาคนละประมาณ 4 ครั้ง/ปี หรือรวมแล้วปีละ 800 ครั้ง ซึ่งต่อให้ไม่ส่งทางไปรษณีย์ คนไข้กลุ่มนี้ก็ต้องเข้ามารับยาที่โรงพยาบาลอยู่ดี ถ้าเทียบปริมาณงานแล้วก็ถือพอๆ กัน
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการลักษณะนี้ถือเป็นรูปแบบที่ดีที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกโรงพยาบาล เพียงแต่ในช่วงแรกต้องจากการสื่อสารให้คนไข้เข้าใจก่อนว่าสิ่งที่จะทำนี้เกิดประโยชน์อย่างไร สร้างความสะดวกและมีความปลอดภัยอย่างไร ซึ่งตอนที่เริ่มทำโครงการนี้ รพ.พระนั่งเกล้าใช้เวลาสื่อสารและจัดระบบการส่งยาเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น
อนึ่ง เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้พัฒนาศักยภาพการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์จากห้องยาไปยังบ้านผู้ป่วย/หน่วยบริการ โดยมี 19 โรงพยาบาลร่วมนำร่องส่งยาทางไปรษณีย์ ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป
- 864 views