“หมอเจษฎา” เผย รอ ก.คลัง อนุมัติระเบียบเยียวยา หลังมติ ครม.อนุมัติ สธ.กันเงิน 6 ล้านบาท ดูแลบุคลากรทางการแพทย์ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ พร้อมเยียวยาพยาบาล รพ.ระนอง เสียชีวิต จากรถพยาบาลประสบอุบัติหตุระหว่างนำส่งผู้ป่วย
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
จากกรณีเหตุการณ์รถพยาบาล รพ.ระนอง ประสบอุบัติเหตุชนต้นไม้ เป็นเหตุให้พยาบาลวิชาชีพเสียชีวิต 1 รายนั้น นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทราบว่าเป็นการนำส่งผู้ป่วยที่มีภาวะทางสมองไปส่งยัง รพ.ภูเก็ต แต่ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุขึ้น ทำให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหลายราย โดยพยาบาลท่านนี้เป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหนักสุด โดยได้รับบาดเจ็บทางสมองอย่างรุน จึงได้ส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ชุมพร จากนั้น 2 วันได้เสียชีวิตลง ซึ่งในการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต นอกจากตามสวัสดิการต่างๆ เช่น กองทุนฌาปนกิจ และสวัสดิการของ รพ.แล้ว เรายังได้ดูในด้านการช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งพยาบาลท่านนี้ สามีรับราชการบำนาญ มีลูก 2 คน คนโตประกอบอาชีพแล้ว แต่คนเล็กพึ่งจบคณะนิเทศศาสตร์และยังไม่มีงานทำ
ส่วนการช่วยเหลือระยะยาวนั้น ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติให้ สธ.กันเงิน 6 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณคนละส่วนกับ มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อใช้สำหรับการเยียวยาเบื้องต้นให้กับผู้ปฏิบัติงานกรณีที่เกิดอุบัติหตุต่างๆ โดย สธ.ได้มีการทำระเบียบและส่งไปที่กระทรวงการคลังแล้ว โดยในการชดเชยเยียวยา กรณีเสียชีวิตจะได้รับการเยียวยา 4 แสนบาท กรณีเกิดความพิการเยียวยา 2 แสนบาท แต่หากติดเชื้อในระหว่างปฏิบัติงาน กรณีรุนแรงจะได้รับการเยียวยา 1 แสนบาท และในกรณีติดเชื้อรุนแรงแต่รักษาได้ภายใน 20 วัน ได้รับการเยียวยา 5 หมื่นบาท โดยในการเสนอระเบียบนี้ เราได้ขอให้มีผลในวันที่ซึ่ง สธ.ได้ยื่นเรื่องไป ซึ่งจะทำให้การเยียวยาครอบคลุมถึงกรณีพยาบาลท่านนี้
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลของ รพ.สังกัด สธ. ก่อนหน้านี้ นพ.ปิยะสกล สัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้เน้นความสำคัญ โดยให้รถพยาบาลทุกคันต้องติดจีพีเอส พร้อมประกันอุบัติเหตุชั้นหนึ่ง ซึ่ง รพ.ทุกแห่งได้ปฏิบัติตามหมดแล้ว แต่กรณีนี้ถือเป็นเหตุสุดวิสัย น่าจะเกิดความเหนื่อยล้าของพนักงานขับรถที่ต้องขับรถต่อเนื่องยาวนานถึง 8 ชั่วโมง ซึ่งโดยหลักการแล้วปกติการขับรถทุก 100 กิโลเมตรต้องมีการพัก จึงต้องพิจารณาว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ก่อนหน้านี้มีหลาย รพ.ได้วางมาตรการป้องกัน อาทิ การให้พนักงานขับรถเป่าตรวจวัดค่าแอลกอฮอล์ก่อน รวมถึงการจัดที่พักให้กับพนักงานและทีมพยาบาลเพื่อที่จะพักผ่อนเต็มที่ก่อนเดินทางกลับ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเสนอให้มีคนขับ 2 คนควบคู่กันไป โดยอยู่ระหว่างหารือ เนื่องจากยังติดที่ระเบียบกระทรวงการคลังในเรื่องการเบิกจ่ายและค่าอยู่
- 8 views