“หมอปิยะสกล” เผยปี 60 มี รพ. 87 แห่งขาดสภาพคล่องวิกฤตระดับ 7 คิดเป็นร้อยละ 9.7 ของ รพ.ในสังกัด ระบุลดลงร้อยละ 4 จากปี 59 ที่มี 119 แห่ง ชี้อยู่ในระดับน่าพอใจ หารือกรมบัญชีกลางเล็งตั้งกองทุนจากเงินบริจาคเพื่อความโปร่งใส พร้อมระบุเตรียมเสนอขอลดหย่อนภาษี 2 เท่าให้ผู้บริจาคเงิน รพ.ต่อ ครม.หลังหารือกรมสรรพากรแล้ว ขอเป็นขอขวัญปีใหม่
ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ – เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน “กรณีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)” ว่า หากสื่ออยากรู้ว่าทำไม รพ.สังกัด สธ.จึงมีปัญหาขาดทุนจนนายกรัฐมนตรีต้องนำงบประมาณมาอุดหนุนเพิ่มเติม 5,000 ล้านบาทในปี 2560 นั้น รพ.ในสังกัด สธ.มีร่วมหมื่นแห่ง ทั้ง รพศ./ รพท. รพช. และ รพ.สต. ที่ดูแลประชาชนทั้งประเทศ ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ประชากรประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เจ็บป่วยมากแม้ว่าจะมีการส่งเสริมสุขภาพที่ดี และค่าตอบแทนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นที่ส่งผลต่อเงินบำรุง ขณะที่งบประมาณที่รัฐบาลจัดให้นั้นจำกัดในฐานะที่เราเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งเรื่องค่าใช้จ่ายสุขภาพแม้แต่ประเทศร่ำรวยก็ไม่สามารถจัดงบประมาณด้านสุขภาพให้เพียงพอได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณสู่ระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปี 2560 ที่ผ่านมานั้น นอกจากงบประมาณที่ได้รับเพิ่ม 5,000 ล้านบาทแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพบริหารการเงิน มีการอบรม ผอ.รพ.ในการบริหาร และจัดระบบติดตาม ส่งผลให้จำนวน รพ.วิกฤตสภาพคล่องระดับ 7 ลดลง จากข้อมูลปี 2560 ล่าสุดไตรมาสที่ 4 มีจำนวน รพ.สภาพคล่อง 87 แห่ง หรือร้อยละ 9.7 ของ รพ.สังกัด สธ. จากปี 2559 มีจำนวน 119 แห่ง หรือร้อยละ 13.5 ของ สังกัด สธ. โดยลดลง 32 แห่ง หรือร้อยละ 4.1 ถือว่าการปรับการบริหารจัดการในรอบปีอยู่ระดับที่น่าพอใจ ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 นี้ เราคงต้องติดตามอยู่อย่างใกล้ชิด
ส่วนที่มองว่าจำนวน รพ.สภาพคล่องที่ลดลง เป็นผลมาจากการเพิ่มเติมงบ 5,000 ล้านบาท และเงินบริจาคของประชาชนนั้น มองว่าต้องไปพร้อมกันกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร รวมทั้งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรียังให้มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ ดังนั้นต้องช่วยกันทำให้ประชาชนตระหนักในการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพตนเอง งบที่ได้รับมาน้อยก็อาจเพียงพอได้ พร้อมกันนี้ในการจัดสรรงบประมาณต้องปรับให้สมดุลแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันการบริหารจัดการโดย ผอ.รพ.และทีมงานก็เป็นส่วนสำคัญเพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับ รพ. แต่ทั้งนี้ต้องเน้นประชาชนเป็นหลัก เป็น รพ.ของชุมชน ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ปล่อยให้รัฐทำอย่างเดียว
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ยอมรับว่างบประมาณภาครัฐไม่พอเพียงที่จะจัดสรรให้ รพ.เพื่อใช้ดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่ในทุกด้าน ฉะนั้นเงินบริจาคจากผู้มีจิตเมตตา ทั้งกรณีของคุณตูน บอดี้สแลม มูลนิธิศิริราชพยาบาล จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ลงมาช่วยกัน ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้หารือกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้แยกเงินบริจาคเป็นกองทุนต่างหากภายใต้เงินบำรุง รพ. โดยตั้งคณะกรรมการมี ผอ.รพ.เป็นประธาน และให้มีภาคประชาชนเข้าร่วมดูแล และให้มีการายงานความเคลื่อนไหวของเงินบริจาคต่อเนื่อง เพื่อความโปร่งใส
“หากประชาชนมีประสงค์ชัดเจนในการบริจาคเพื่อสิ่งใด รพ.ต้องทำตามนั้น และให้ สตง.ตรวจสอบได้ โดยเปิดเผยว่าเงินบริจาคที่ประชาชนให้มา รพ.ได้ทำอะไรกลับไปบ้าง เป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง ให้มีความโปร่งใส และนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์จริง” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ส่วนการขอลดหย่อนภาษีให้กับผู้ร่วมบริจาคเงิน รพ.นั้น อยู่ระหว่างขอกับรัฐบาลอยู่ และได้ประสานไปยังกรมสรรพากรแล้ว โดยผู้ที่บริจาคเงินให้กับ รพ.สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่และรอเข้า ครม. หากเป็นไปได้อยากให้เป็นของขวัญปีใหม่นี้
สำหรับการเพิ่มรายได้ใน รพ.รัฐนั้น นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สามารถทำได้โดยการเปิดคลินิกพิเศษ โดยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลผู้ป่วยนอกเวลาแทนการทำงานพิเศษใน รพ.เอกชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับบริการเพิ่มเติม แพทย์มีรายได้เพิ่ม ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับ รพ.เอง ทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากร รพ.ให้คุ้มค่า ที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์ทำแบบนี้มานานแล้ว และ รพ.สังกัด สธ.เองขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการ อาทิ รพ.ภูเก็ต, รพ.หาดใหญ่ เป็นต้น อยู่ระหว่างประเมิน ซึ่งได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งนี้การดำเนินงานนี้ไม่ใช่ทุก รพ. แต่เฉพาะ รพ.ที่แออัด รพ.ขนาดใหญ่ และต้องเหมาะสมกับพื้นที่ด้วย
- 46 views