สมัยที่โรคเรื้อนยังระบาดในประเทศไทย สถานบำบัดโรคผิวหนัง สถาบันราชประชาสมาสัย หรือในอีกชื่อว่า “สถานบำบัดโรคผิวหนัง วัดมกุฏกษัตริยาราม” นับว่าเป็นสถานพยาบาลแห่งแรกๆ ในการควบคุมโรคเรื้อนและบำบัดโรคเรื้อนในเขตเมือง (Urban Leprosy Control) โดยเป็นสถานพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคผิวหนังทั่วไปควบคู่กับการคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อนในเขตเมือง ภายใต้การกำกับดูแลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
สถานบำบัดโรคผิวหนัง วัดมกุฏกษัตริยาราม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2505 เพื่อสนับสนุนงานควบคุมโรคเรื้อนในเขตเมืองด้านต่างๆ ทั้งการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนที่อาจมารับบริการด้วยเพราะคิดว่าตนเองเป็นโรคผิวหนังทั่วไป การตรวจรักษาที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาองค์ความรู้ และฝึกอบรมแพทย์ให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคเรื้อนมากยิ่งขึ้น
จากวันแรกจนปัจจุบันเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ที่แห่งนี้ดำเนินภารกิจเหล่านั้นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การควบคุมโรคเรื้อนในภาพรวมของประเทศขณะนั้น ด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์การตรวจรักษาโรคเรื้อนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนทั้งประเทศเหลืออยู่ไม่มาก โดยเฉพาะในเขตเมืองที่ตรวจพบเพียงไมกี่คนต่อปีเท่านั้น ขณะเดียวกันการคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อนก็มีความสมบูรณ์มากขึ้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นบทบาทของสถานที่แห่งนี้ในปัจจุบันจึงมีทั้งที่คงเดิมและเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
กว่าจะเป็นสถานบำบัดโรคผิวหนังวัดมกุฏกษัตริยาราม
ย้อนไปก่อนหน้านั้น เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามมีโอกาสได้รู้จักกับ มร.เอกิ้นส์ ชาวอเมริกัน ซึ่งทำงานประจำอยู่ที่บริษัท American International Assurance (AIA) ชายผู้นี้มีความสนใจเกี่ยวกับโรคเรื้อนเป็นพิเศษ ถึงขนาดอาสามาช่วยงานต่างๆ อย่างจริงจัง ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาชีพของตัวเองเลย เขาออกปากร้องขอให้ทางวัดมกุฏฯ จัดตั้งสถานบำบัดคนเป็นโรคเรื้อนขึ้นภายในบริเวณวัดแล้วเขาจะเป็นคนจัดหายาต่างๆ มาให้จากต่างประเทศ
เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามเห็นว่าการบำบัดรักษาคนทุกข์ยากและป่วยไข้เป็นบุญอันประเสริฐจึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยบริจาคเงินจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างตึกกรุณานิมมิต (แต่เดิมชื่อกรุณานิวาส) อาคารปูน 3 ชั้นขึ้นภายในบริเวณวัดมกุฏกษัตริยาราม ด้านริมถนนประชาธิปไตย
เดิมทีอาคารแห่งนี้จะใช้ชื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ว่า “ตึกโรคเรื้อน” แต่เนื่องจากสมัยนั้นคนทั่วไปยังมีความรู้ความเข้าใจต่อโรคเรื้อนไม่มากนัก เลยหวั่นเกรงว่าจะส่งผลต่อความรังเกียจ รวมไปถึงผู้ป่วยอาจเกิดความรู้สึกอับอายจนไม่กล้าเข้ารับการรักษา จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “ตึกโรคผิวหนัง” เพราะโรคเรื้อนนับเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง จนกระทั่งกลายเป็นชื่อสถานบำบัดโรคผิวหนัง วัดมกุฏกษัตริยาราม
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จด้วยเงินประมาณ 5 แสนบาท ตัวอาคารได้ถูกส่งมอบไปอยู่ในความดูแลของกรมอนามัยในสมัยนั้นเพื่อใช้เป็นสำนักงานกลางในการควบคุมโรคเรื้อน และเป็นศูนย์กลางในการส่งเจ้าหน้าที่ออกทำการบำบัดโรคเรื้อนทั้งในเขตพระนครธนบุรี และจังหวัดใกล้เคียงในภาคกลาง รวมทั้งเป็นสถานที่สำหรับตรวจโรคผิวหนังทั่วไปด้วย
ช่วงเวลานั้น องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคเรื้อนยังมีอย่างจำกัด สถานบำบัดโรคผิวหนัง วัดมกุฏกษัตริยาราม จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากอาจารย์โรคผิวหนังของคณะแพทย์ศาสตร์ในสถาบันการแพทย์ต่างๆ อาทิ นพ.เชียร สิริยานนท์, คุณหญิงยุกตเสวีวิวัฒน์ (ถนอมศรี ยุกตะเสวี), ศ.นพ.ทองน่าน วิภาตะวณิช, นพ.สุนิตย์ เจิมสิริวัฒน์, แพทย์หญิงประนอม พลนิกร ฯลฯ ที่อาสามาช่วยบุกเบิกให้สถานที่แห่งนี้เติบโตอย่างมีคุณภาพในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนารูปแบบสถานบำบัดโรคผิวหนังให้เป็นที่ฝึกอบรมด้านโรคเรื้อนและโรคผิวหนังทั่วไป และให้บริการค้นหา ตรวจรักษาโรคเรื้อนรายใหม่ด้วยยาที่มีความทันสมัย โดยบูรณาการให้เป็นส่วนหนึ่งกับการให้บริการผู้ป่วยโรคผิวหนังทั่วไป ซึ่งนับเป็นกลวิธีที่ช่วยให้ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ได้มากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถลดอัตราอุบัติการณ์ของความพิการซํ้าซ้อนในผู้ป่วยโรคเรื้อนได้มากขึ้นตามไปด้วย
ในช่วงที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานของกรมควบคุมโรคติดต่อ (ชื่อเดิมของกรมควบคุมโรค) เมื่อ พ.ศ. 2517 นั้นได้มีการแยกกองโรคเรื้อนออกจากโรงพยาบาลพระประแดง ชั้นบนของอาคารกรุณานิมมิตยังเคยใช้เป็นที่ตั้งของ “กองโรคเรื้อน” ซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแลและบริหารจัดการภารกิจงานควบคุมโรคเรื้อนทั่วประเทศควบคู่ไปกับการเกิดขึ้นของ สถานบำบัดโรคผิวหนัง วัดมกุฏกษัตริยาราม เพื่อให้ระยะยาวไม่เกิดติดขัดในเรื่องงบประมาณดำเนินงาน
ด้วยเหตุนี้ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามจึงขอจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน (Leprosy Relief Fund)” เพื่อเป็นตัวกลางในการหาเงินทุนส่วนหนึ่งนอกเหนือจากงบประมาณของทางราชการ และยังรับเป็นประธานกรรมการของมูลนิธิฯ ตลอดมาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์อีกด้วย
ในส่วนของอาคารที่เป็นสถานบำบัดโรคผิวหนังวัดมกุฏกษัตริยารามนี้ ถ้ามองผิวเผินจะพบว่าถึงแม้จะมีรูปลักษณะเป็นอาคารแบบสมัยโบราณ ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความทันสมัย แต่ปัจจุบันก็ยังคงความงดงาม แม้จะผ่านการบูรณะปรับปรุงมาหลายครั้ง
ภาพเก่าของสถานบำบัดโรคผิวหนัง สถาบันราชประชาสมาสัย
เก็บความจาก
ขวัญชาย ดำรงขวัญ. (2559).UNSEEN กรมควบคุมโรค เส้นทางประวัติศาสตรและความทรงจำ. นนทบุรี: สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.
- 1373 views