พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่ถูกก่อรูปขึ้นในนามของ “ความปรารถนาดี” ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะแกนหลักในการเขียนกฎหมายมีต่อประชาชน โดยเจตนารมณ์หรือหมุดหมายสำคัญที่วางเป็นไปเพื่อให้ความคุ้มครองคนไทยทุกคน ผ่านการ “ควบคุม-กำกับ” วัสดุนิวเคลียร์ กัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสีทุกชนิด
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือไม่มีหลักประกันใดที่สามารถยืนยันได้ว่า “ความปรารถนาดี”จะนำมาซึ่ง “ผลดี” เสมอ และประสบการณ์จากอดีตก็พิสูจน์แล้วว่าหลากหลายความวุ่นวาย-สับสน รวมถึงความเลวร้ายนานัปการที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ตั้งต้นจาก “ความปรารถนาดี” แทบทั้งสิ้น
การวิพากษ์กฎหมายฉบับนี้ จึงควรแยก “เจตนารมณ์ที่ดี” ออกไปก่อน แล้วค่อยพิจารณารายละเอียดระหว่างบรรทัดอย่างรอบด้าน
ตลอดระยะเวลาการผลักดันจนกระทั่งทำคลอด พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ สำเร็จ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างอื้ออึงจากบุคลากรใน “วิชาชีพสาธารณสุข” มาโดยตลอด สาระสำคัญของข้อกังวลก็คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะ “เครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์” ที่ต้องถูกควบคุมตามกฎหมายฉบับนี้
ตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยอธิบายให้เห็นภาพก็คือ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน กฎหมายกำหนดว่าต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) มาประจำตลอด 24 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะมีความผิด
คำถามจากบุคลากรทางการแพทย์ก็คือ ในกรณีที่ RSO ไม่อยู่ในขณะที่มีคนไข้อาการหนักมาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะทำอย่างไร ระหว่างรอให้ RSO มาก่อน หรือตัดสินใจเอกซเรย์เพื่อช่วยชีวิตคนไข้
แน่นอนว่า ยังมีเงื่อนไขและอุปสรรคอีกมากมายที่พ่วงมากับกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะกับวิชาชีพทันตกรรม
“เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ดี แต่กลับรวมวัสดุนิวเคลียร์ กัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสี ไว้ด้วยกัน ควบคุมแบบเดียวกันและกำหนดโทษระดับเดียวกัน ทั้งที่เครื่องเอกซเรย์ฟันเป็นเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานเมื่อมีกระแสไฟฟ้าเท่านั้น และมีรังสีที่ต่ำที่สุดในเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ ที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานความเสียหายกับผู้ป่วยหรือเกิดความเสี่ยง” คือความเห็นจาก ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ที่กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “กฎหมายนิวเคลียร์ : ผลกระทบและการบังคับใช้” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2560
International Atomic Energy Agency (IAEA) เป็นหลักการสากลที่กำหนดมาตรการการควบคุมวัสดุนิวเคลียร์ โดยแบ่งประเภทการควบคุมออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Notification Registration และ Licensing โดย IAEA ระบุว่า องค์กรที่จะเข้ามากำกับเรื่องนี้อาจต้องมีมากกว่า 1 องค์กร เพราะวัสดุอุปกรณ์แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันและแต่ละองค์กรย่อมมีความเชี่ยวชาญชำนาญแตกต่างกันเช่นกัน
ทว่า ประเทศไทยกลับมีแนวคิดจะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ ปส.องค์กรเดียว
“หลักการสากลกำหนดไว้ว่าทันตแพทย์สามารถใช้เครื่องมือได้โดยอิสระ ไม่ต้องขอ License RSO ทว่ากฎหมายฉบับนี้กลับบังคับให้ทันตแพทย์ต้องมาขอใบอนุญาตเพิ่มจาก ปส.อีกชั้นหนึ่ง เห็นได้ชัดว่ากฎหมายของ ปส.ไปก้าวก่ายกฎหมายของทันตแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และกฎหมายฉบับนี้อาจทำให้ทันตแพทย์ต้องเลิกใช้เครื่องเอกซเรย์ในคลินิก กระทบมาตรฐานวิชาชีพ ขัดขวางพัฒนาการของวิชาชีพ และเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ควบคุมการใช้กฎหมายกับทันตแพทย์” ทพ.ไพศาล ระบุ
หากพิจารณาสถานการณ์ประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ทันตแพทย์สามารถใช้เครื่องเอกซเรย์ได้เพียงแค่จดทะเบียนแต่ไม่ต้องขออนุญาต ขณะที่ญี่ปุ่นมีถึง 4 หน่วยงานในการดูแลเครื่องเอกซเรย์ประเภทต่างๆ ส่วนประเทศมาเลเซียก็มีการแยกคณะกรรมการออกเป็น 2 ชุด หนึ่งในนั้นคือชุดที่ดูแลเครื่องเอกซเรย์ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธาณสุขโดยเฉพาะ
“ขอยืนยันว่าทันตแพทย์เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ปัจจุบันคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่ดูแลกำกับและตรวจสอบมาตรฐาน ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบการติดตั้งในคลินิก และมีทันตแพทยสภาควบคุมมาตรฐานอีกชั้น ขณะที่การจำหน่ายทิ้งก็มีกรมควบคุมมลพิษเป็นแม่งาน ดังนั้นการที่ ปส.เข้ามาดูแลจึงไม่ได้เกิดประโยชน์หรือสร้างความปลอดภัยอะไรมากขึ้น” นายกทันตแพทยสภา ระบุ
สอดคล้องกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ยืนยันว่า กรมวิทย์ฯ เป็นผู้ดูแลความปลอดภัยเครื่องฉายรังสีมาตั้งแต่ต้น และปัจจุบันก็มีระบบไอทีมาอำนวยความสะดวกให้การขอใบอนุญาตเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น ยืนยันว่ากรมวิทย์ฯ มีความพร้อมในการรับรองดูแลเครื่องเอ็กซเรย์ทางการแพทย์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
อีกหนึ่งวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบคือสัตวแพทย์ เสียงสะท้อนจาก น.สพ.สุวิชัย โรจนเสถียร นายกสัตวแพทยสภา ให้ภาพว่า ผลพวงจากการใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อควบคุมเครื่องเอกซเรย์จะทำให้คลินิกสัตวแพทย์กว่า 700 แห่ง ได้รับผลกระทบ ส่วนตัวคิดว่าการดำเนินการในอดีตดีอยู่แล้ว
นอกจากประเด็นผลกระทบต่อวิชาชีพด้านสาธารณสุขแล้ว พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ ยังถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการบวนการจัดทำกฎหมายด้วย
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ประเด็นผ่านงานสัมมนาเดียวกันนี้ว่า กฎหมายที่กำลังจะบังคับใช้ในขณะนี้ออกมาก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาจึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข 7 วิชาชีพ ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องเอกซเรย์ในสถานพยาบาลตั้งแต่คลินิกขนาดเล็กไปจนถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยแพทย์
“ผมเชื่อว่าหากมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กฎหมายฉบับนี้คงไม่มีทางประกาศใช้ได้” นพ.เจตน์ กล่าว
ข้อเสนอจากวงสัมมนาที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็นทางออกของปัญหามาจาก นพ.ฆนัท ครุฑกูล อนุกรรมาธิการส่งเสริมนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งอ้างถึงรายงานผลการศึกษาว่า ปส.มีเจตนารมณ์ที่ดีในการคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากวิชาชีพทางการแพทย์มีการใช้เครื่องเอกซเรย์ และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว เมื่อ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ ออกมาจึงทำให้เกิดความลักลั่น จึงมีข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมาย
“เสนอให้แก้กฎหมายเพื่อเปิดช่องให้ สธ.และ ปส.ดูแลร่วมกันเป็น One Stop Services ให้ตรงกับบริบทการใช้งานของอุปกรณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเป็นหน้าที่โดยตรงของ สนช. และอนุกรรมาธิการที่ได้ยกร่างกฎหมายไว้แล้ว โดยจะแก้ไขในบางมาตรา ได้แก่ มาตราที่ 5/2559 เสนอให้ สธ.รับผิดชอบในส่วนของเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งแก้บทกำหนดโทษให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ตัดโทษจำคุกให้เหลือแต่โทษปรับ ซึ่งจากนี้จะเสนอเรื่องไปยัง สนช.ต่อไป” นพ.ฆนัท อธิบายขั้นตอนและแนวทางการดำเนินการต่อผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 ชีวิต
แน่นอนว่าในการหารือวงใหญ่เช่นนี้ ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง ย่อมมีผู้สนับสนุนกฎหมายและผู้ที่ยืนกรานถึงผลกระทบ ทว่าที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจำเป็นและยินดีที่จะแก้ไขกฎหมายหากนำไปสู่ควาสงบสุข และปัจจุบันก็มีคณะกรรมการร่วมระหว่าง สธ.กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กฎหมายฉบับนี้ก็ยังจะเดินหน้าบังคับใช้ ซึ่งที่สุดแล้วข้อกังวลและผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นคำตอบสุดท้ายว่าอนาคตของ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ จะเป็นอย่างไร
- 79 views