ในอดีตแพทย์ คือ เทวดา ที่สามารถช่วยเหลือให้คนไข้ให้หายจากการเจ็บปวด และรอดชีวิตได้ แต่ในปัจจุบันความรู้สึกแบบนี้ยังมีเหลืออยู่อีกหรือไม่ ซึ่งผมยังมั่นใจว่าคนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะสังคมชนบท หรือต่างจังหวัดยังมีความศรัทธา ความเชื่อมั่น ความคาดหวังต่อแพทย์ไม่แตกต่างจากเดิม แต่ในสังคมเมืองหลวง จังหวัดใหญ่อาจมีความคาดหวัง ความศรัทธาแตกต่างไปจากเดิม
ผมเองทำงานเป็นอาจารย์หมอรักษาผู้ป่วยและสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม และประสาทวิทยาอยู่ที่ขอนแก่น ผมมีความเห็นดังนี้
1. คนไทยยังคาดหวังว่าหมอต้องเป็นคนที่เสียสละ อดทน พร้อมที่จะให้บริการที่ดี รวดเร็วทุกเวลา โดยคาดหวังว่าหมอต้องพร้อมตลอดเวลา ทั้งๆ ที่แพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายมีข้อจำกัดด้านอัตรากำลัง และภาระงานที่ไม่สัมพันธ์กัน คืองานล้นมือ
2. คนไทยยังมีความคาดหวังว่าหมอต้องให้การรักษาที่ดีที่สุด ถ้าต้องการไปรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ แพทย์ก็ต้องส่งตัว ถ้าไม่ส่งตัวก็ไม่พอใจในการให้บริการ เหตุส่วนหนึ่งมาจากการประชาสัมพันธ์ที่อาจมากเกินความเหมาะสม โดยไม่มีการทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดหรือความเป็นจริงของระบบสาธารณสุข
3. คนไทยส่วนหนึ่งคาดหวังว่าหมอต้องให้บริการการรักษาที่ดี เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ดีที่สุด การรักษาต้องหาย ไม่หายไม่ได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะผลการรักษาโรคร้ายแรง รุนแรงใดๆ ย่อมมีหาย ไม่หาย และเสียชีวิต ซึ่งเป็นการคาดหวังที่สูงมากๆ เกินความสามารถของหมอที่จะทำได้
4. คนไทยคาดหวังว่าการบริการของหมอที่คลินิกส่วนตัว โรงพยาบาลเอกชนจะต้องให้บริการที่ดีกว่าที่โรงพยาบาลรัฐ และบางส่วนใช้เป็นช่องทางในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ เมื่อเข้ามารักษาในโรงพยาบาลของรัฐก็จะคาดหวังว่าแพทย์ต้องให้การบริการที่ดีเป็นพิเศษ ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็จะเกิดความไม่พอใจ
5. ความไว้วางใจที่เปลี่ยนไป แต่ก่อนนั้นแพทย์แนะนำอะไร ทำอะไร ผู้ป่วยและญาติก็เห็นด้วยอนุญาตให้แพทย์ทำการรักษาหรือไม่รักษา แต่ในปัจจุบันด้วยระบบและการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ได้มีการเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้ความไว้วางใจนั้นลดลงไปมาก ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมากขึ้น
สิ่งที่ผมคิดต่อไปว่าแล้วทำไมความคาดหวังของสังคมต่อแพทย์ถึงเปลี่ยนไปจากเดิม สาเหตุอาจมีหลากหลาย เช่น
1. สังคมมีการเปลี่ยนแปลง การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย กับญาติผู้ป่วยหรือคนในสังคมนั้นไม่เหมือนเดิม แต่ก่อนแพทย์เป็นบุคคลที่ทุกคนให้การนับถือ เคารพ ยกมือไหว้ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป เด็กๆ รุ่นใหม่ไม่ได้คิดแบบเดิมแล้ว และปฏิสัมพันธ์กับแพทย์ไม่เหมือนเดิม ถึงเคยมีกระทู้ในเว็บไซต์ชื่อดังว่า ทำไมต้องไหว้แพทย์ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ทั้งที่จริงแพทย์ก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้ป่วยต้องไหว้แพทย์
2. ระบบบริการของแพทย์เปลี่ยนไป เดิมมีการบริการของรัฐ และคลินิกส่วนตัวของแพทย์ แต่ในปัจจุบันมีการบริการของภาคเอกชนที่ให้การบริการด้วยความสะดวก สบาย รวดเร็วโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงกว่าภาครัฐมากๆ ทำให้ความสัมพันธ์ของแพทย์กับผู้ป่วยเปลี่ยนจาก แพทย์ผู้มีความกรุณา เมตตา เสียสละในการรักษาคนเจ็บป่วย เปลี่ยนเป็นแพทย์คือผู้ให้บริการ เพราะมีค่าตรวจรักษาของแพทย์ที่ค่อนข้างสูง
ดังนั้นเมื่อมารักษาก็มีความคคาดหวังและความต้องการที่สูง คือ ต้องหาย ต้องสบาย ต้องรวดเร็ว แต่ความต้องการ ความคาดหวังนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น มันลามมาถึงการบริการในภาครัฐด้วย เพราะในภาครัฐก็มีการบริการแบบเอกชนในโรงพยาบาลรัฐด้วย ที่เพิ่มการให้บริการแบบเอกชน แต่เนื่องจากอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน ทำให้ผู้ป่วย ญาติและแพทย์เห็นระบบการบริการที่ไม่เหมือนกันในโรงพยาบาลเดียวกัน ซึ่งประเด็นนี้อาจส่งผลให้ทุกฝ่าย คือ ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และสังคมมีทัศนคติ การปฏิบัติเปลี่ยนไป
3. การเก็บค่าบริการ ค่าตรวจรักษาของแพทย์ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ก่อนไม่มี อาจส่งผลให้สังคมมีความรู้สึกว่าการรักษาของแพทย์ไม่ใช่การเสียสละ หรือการช่วยเหลือผู้ป่วย แต่เป็นการให้บริการแบบหนึ่ง ดังนั้นเมื่อไม่พอใจหรือผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ที่คาดหวังก็เกิดการร้องเรียน การฟ้องร้องมากขึ้น
4. การสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ญาติที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีการโต้แย้ง ออกความเห็นต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนจะไม่ค่อยมีการโต้แย้ง หรือวิพากวิจารณ์กันมากเหมือนในปัจจุบัน
5. ข้อมูลทางการแพทย์ที่มีมากมาย เข้าถึงง่าย และการให้ความเห็นที่มีมาก รวมทั้งแนวทางการรักษาต่างๆ ที่มีมากขึ้น แต่การที่มีข้อจำกัดทางการแพทย์ในแต่ละโรงพยาบาล ก็อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความคาดหวังของสังคมเปลี่ยนไปจากเดิม
เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยได้ผลดี และมีปัญหาการขัดแย้งที่ลดลง คงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งแพทย์ ระบบสุขภาพ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ข้างต้น เมื่อสังคมเปลี่ยนไปจากเดิม ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยครับ
ผู้เขียน รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เผยแพร่ครั้งแรก Facebook ส่วนตัว Somsak Tiamkao เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 530 views