ผลสำรวจโดยสหพันธ์สหภาพบุคลากรทางการแพทย์ (อิโรเร็น) ของญี่ปุ่นชี้ พยาบาล 7 ใน 10 กำลังผจญกับภาวะเหนื่อยล้าอ่อนเพลียเรื้อรัง และปัญหาการแบกรับภาระงานแสนสาหัสยังไม่มีทีท่าคลี่คลาย
ขอบคุณภาพจาก www.japantimes.co.jp
เว็บไซต์ japan-press.co.jp เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 รายงานว่า สหพันธ์สหภาพบุคลากรทางการแพทย์ญี่ปุ่น (Japan Federation of Medical Workers’ Unions - Iroren) หรือ ‘อิโรเร็น’ ได้ดำเนินการสำรวจสภาพแวดล้อมการทำงานของพยาบาลทุก 5 ปีมาตั้งแต่ปี 2531 ผลสำรวจล่าสุดซึ่งครอบคลุมพยาบาลกว่า 33,000 คนพบว่าร้อยละ 71.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียเรื้อรัง (เช่น การไม่สามารถฟื้นตัวจากความอ่อนเพลีย)
นอกจากนี้พบว่าร้อยละ 62.5 ตกอยู่ในภาวะเครียด และร้อยละ 55.3 เป็นกังวลถึงสุขภาพของตนเอง ซึ่งสะท้อนว่าปัญหาภาระงานไม่ได้กระเตื้องขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อปี 2556
ราวร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยหรือเกือบก่อเหตุผิดพลาดทางการแพทย์ และเกือบร้อยละ 75 เผยว่าคิดจะลาออกอยู่บ่อยครั้งเนื่องจาก “ภาระงานหนักอึ้งอันเป็นผลจากการขาดแคลนบุคลากร”
อัตราของผู้ตอบแบบสอบถามที่รายงานว่ามีปัญหาสุขภาพอยู่ที่ร้อยละ 32.8 ซึ่งสูงกว่าถึงร้อยละ 16.8 เทียบกับพนักงานหญิงในสาขาอาชีพอื่น นอกจากนี้พบด้วยว่าพยาบาลยังต้องทำงานหนักแม้ระหว่างตั้งครรภ์ โดยร้อยละ 50 ยังต้องเข้าเวรกะดึกทั้งที่ท้อง และร้อยละ 40 เคยแท้งมาก่อน
จากการสำรวจในพยาบาลประจำโรงพยาบาลซึ่งเข้าเวร 3 กะพบว่า ร้อยละ 36.7 เข้าเวรกะดึกอย่างน้อยเดือนละ 9 กะ และจากพยาบาลในสถาบันการแพทย์ซึ่งทำงาน 2 กะพบว่า ร้อยละ 47.3 เข้าเวรกะดึกอย่างน้อยเดือนละ 5 กะ และร้อยละ 90 ของพยาบาลที่เข้าเวรกะดึกต้องทำงานล่วงเวลา
อิโรเร็นเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกข้อบังคับลดจำนวนชั่วโมงทำงานของพยาบาลที่ทำงานระบบกะ โดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานกะดึก รวมถึงกำหนดระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างงานแต่ละกะ
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรและเพิ่มค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพ
แปลและเรียบเรียงจาก 70% of nurses suffer from chronic fatigue syndrome: union survey (www.japan-press.co.jp)
อิโรเร็นเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกข้อบังคับลดจำนวนชั่วโมงทำงานของพยาบาลที่ทำงานระบบกะ โดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานกะดึก รวมถึงกำหนดระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างงานแต่ละกะ
- 124 views