การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและก่อปัญหาด้านสาธารณสุขและด้านสังคม โดยก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและร่างกายของผู้ดื่ม เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคตับแข็ง มะเร็ง อุบัติเหตุ และยังก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อผู้ที่ไม่ดื่ม เช่น การทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรง อาชญากรรมและอุบัติเหตุบนท้องถนน

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณปีละ 3.3 ล้านคน และก่อให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพเท่ากับร้อยละ 5.1 ของภาระโรคทั่วโลก ซึ่งเป็นความเสียหายที่สูงกว่าสาเหตุจากการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ หรือวัณโรค

สำหรับในประเทศไทยนั้น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับ 2 ก่อให้เกิดภาระโรคสูงถึงร้อยละ 10 ของภาระโรคทั้งหมด และเมื่อประเมินเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้ว พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.51 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 1.97 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

รายงานพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย

รายงานผลการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเมื่อปีพ.ศ. 2557 พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ในช่วงเวลา 1 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 38.9 เป็นชายร้อยละ 55.9 และหญิงร้อยละ 23

มีสัดส่วนของผู้ดื่มใกล้เคียงกันทุกกลุ่มอายุ กล่าวคือกลุ่มอายุ 15-29 ปีดื่มร้อยละ 44.4 และสัดส่วนนี้สูงสุดในกลุ่มอายุ 30-44 ปี ถึงร้อยละ 46.0

ความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนนอกเขตเทศบาลสูงกว่าคนในเขตเทศบาลทั้งในชายและหญิง และความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงสุดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 43-45รองลงมาคือภาคกลาง กรุงเทพฯ และภาคใต้

มีการตรวจพบว่าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มเฉลี่ยในชาย 20.5 กรัมต่อวัน ในหญิง 9.0 กรัมต่อวัน โดยกลุ่มอายุ 30-44 ปี ดื่มปริมาณต่อวันสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ปริมาณการดื่มลดลงเมื่ออายุมากขึ้น นอกเขตเทศบาลและในเขตเทศบาลมีปริมาณการดื่มเฉลี่ยต่อวันใกล้เคียงกัน ประชากรภาคเหนือและภาคกลางมีจำนวนวันที่ดื่มสูงกว่าภาคอื่น

ในขณะที่เมื่อพิจารณาปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มพบว่าในกรุงเทพฯ มีปริมาณการดื่มเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่น และกลุ่มประชากรที่มีจำนวนครั้งและความชุกของการดื่มอย่างหนักมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 15-29 และ 30-44 ปี

นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้เสียภาษี เช่น เหล้าเถื่อน เหล้าที่ผลิตตามบ้าน ในช่วงที่ผ่านมา มีความชุกของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 1.3 ผู้ชายดื่มสูงสุดในกลุ่มอายุ 30-44 ปี ร้อยละ 3.3 รองมาคือ อายุ 45-59 ปี ร้อยล ะ2.4 อายุ 15-29 ปี ร้อยละ 1.7 อายุ 60-69 ปี ร้อยละ 1.5 สำหรับผู้หญิงดื่มสูงสุดในกลุ่มอายุ 30-44 ปี ร้อยละ 0.8 รองมาคืออายุ 45-59 ปี ร้อยละ 0.4 อายุ 60-79 ปี ร้อยละ 0.2

สำหรับปัญหาความเสี่ยงต่อการติดสุราจากการสัมภาษณ์ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 72.1 เป็นกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยงต่ำ (low risk drinker) โดยผู้ชายกลุ่มอายุ 30-44 มีสัดส่วนของกลุ่มที่ดื่มแบบเสี่ยง แบบอันตรายและแบบติดสุราสูงสุด รองลงมาคือกลุ่ม 45-59 ปี ส่วนในผู้หญิงกลุ่มที่มีสัดส่วนของผู้ดื่มแบบเสี่ยงและแบบอันตรายสูงสุดคือกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป

การตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

การตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยแวดล้อมสำคัญที่มีผลต่อทัศนคติและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเยาวชน กล่าวคือ การตลาด การโฆษณา การใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีงานวิชาการยืนยันแล้วว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่อทัศนคติเชิงบวกต่อการดื่ม การเลือกแบรนด์ในการดื่ม และการตัดสินใจดื่มของเยาวชน

ดังนั้นการตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและก่อปัญหาด้านสาธารณสุขและด้านสังคม ผลกระทบดังกล่าวทำให้ประชาคมโลกมีความตระหนักในการควบคุมและป้องกันการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยองค์การอนามัยโลกมีการแนะนำกลุ่มมาตรการที่มีประสิทธิผลสูงสุดและมีต้นทุนต่ำ หรือมีความคุ้มค่ามากที่สุด ได้แก่ มาตรการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การจำกัด วัน เวลา และสถานที่ขาย และกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อ มาตราการด้านภาษีและราคา และมาตรการควบคุมด้านการตลาดและโฆษณา

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่มีความจำเป็นและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายแอลกอฮอล์ เช่น การให้ความรู้ การรณรงค์โน้มน้าว การปรับเปลี่ยนบริบทไปสู่การไม่ดื่ม และพัฒนากลไกเครือข่ายและระบบสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายแอลกอฮอล์

ที่น่าเป็นห่วงคือประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการทำการตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ควบคุมได้เพียงบางส่วนและยังมีปัญหาในการตีความ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนก็ยังขาดความเข้าใจในกฎหมาย กล่าวคือ ประเทศไทยมีทั้งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการดำเนินมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีแผนยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์ระดับชาติที่เป็นแผนแม่บทในการวางนโยบายจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในประเทศ

แต่กลับพบว่าการตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถนำกฏหมายดังกล่าวมาใช้ควบคุมการตลาดและการโฆษณาในรูปแบบและช่องทางใหม่ๆได้ เช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การใช้สื่อบุคคล กลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การโฆษณาผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์ ผ่านดารานักร้องคนดัง ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมดนตรีหรือกีฬาของธุรกิจแอลกอฮอล์ รวมถึงการใช้พนักงานขายที่เป็นสาวสวย เช่น สาวเชียร์เบียร์

ดังนั้นการกำหนดนโยบายให้สอดรับกับสถานการณ์การทำการตลาดและการโฆษณาจะต้องประกอบไปด้วยการทบทวนกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องและองค์ความรู้เกี่ยวกับการตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน ซึ่งจะนำมาสู่มาตรการในการควบคุมการตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เก็บความจาก

ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร และคณะ.รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557. นนทบุรี:สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), 2559.

นงนุช ใจชื่น และคณะ. สถานการณ์ ช่องว่างและโอกาสในการควบคุมการตลาดและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปรเทศไทย.วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2560.