สถานการณ์ไข้เลือดออกไม่ลด สธ. จับมือ สสส. เปิดตัวสื่อรณรงค์ป้องกันโรคจากยุงลาย พร้อมปล่อยโฆษณา 4 เรื่องให้สังคมร่วมกันกำจัดยุงลาย
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวเปิดตัวสื่อรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ ชุด “เอาจริง ให้ยุงสิ้นลาย” และปล่อยโฆษณา 4 เรื่อง ทางสื่อต่างๆ เพียงสัปดาห์เดียวยอดวิวบนสื่อสูงถึงหลักล้านวิว เนื้อหาเน้นสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคม พร้อมขอประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” อย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวสื่อรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ ชุด “เอาจริง ให้ยุงสิ้นลาย” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ประชาชนและตระหนักถึงอันตรายของยุงลาย รวมถึงวิธีการกำจัดยุงลายที่ถูกต้อง
นพ.เจษฎา กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม– 4 กันยายน 2560 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยแล้ว 34,459 ราย เสียชีวิต 49 ราย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ภาวะอ้วน และมารับการรักษาช้า และในปีนี้ยังพบว่ากรุงเทพมหานครและเขตเมืองเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคนี้
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำหนังสือ 100 วิธีปราบยุงลาย เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนและผู้สนใจนำไปเลือกปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเองและเหมาะสมกับชุมชน ส่วนการป้องกันและควบคุมโรค ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2.เก็บขยะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นการเปิดตัวสื่อรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ ชุด “เอาจริง ให้ยุงสิ้นลาย” เพราะยุงลายเป็นพาหะของหลายโรค ที่สำคัญยุงลาย 1 ตัว สามารถออกลูกได้ประมาณ 500 ตัว และไข่ยุงลายก็สามารถอยู่ได้เป็นปีแม้จะไม่ได้อยู่ในน้ำ เพราะฉะนั้นจึงต้องร่วมกันเอาจริงเพื่อกำจัดยุงลาย โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อเพื่อการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม โดยร่วมดำเนินงานสร้างสรรค์ ผลิต และเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ตามโครงการดังกล่าว
ด้าน ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค ดำเนินการผลิต และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั่วไปผ่านโครงการ “เอาจริง ให้ยุงสิ้นลาย” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ประชาชนและตระหนักถึงอันตรายของยุงลาย รวมถึงวิธีการกำจัดยุงลายที่ถูกต้องด้วย โดยใช้ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวกับยุงลาย เช่น ยุงลายมีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว การเทน้ำทิ้งอย่างเดียวไม่พอ ต้องล้างและขัดภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงลายด้วย เป็นต้น
จากนั้นได้จัดทำโฆษณาขึ้น 4 เรื่อง เผยแพร่ลงสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์และดิจิทัลต่างๆ ได้แก่
1.เรื่องขยายพันธุ์
2.เรื่องไม้แบต หนึ่งในวิธีกำจัดยุงลายโดยใช้ไม้ช๊อตยุง
3.เรื่องฟันปลอม
และ 4.เรื่องฝาโอ่ง
โดยเนื้อหาต้องการสื่อถึงความน่ากลัวของการแพร่พันธุ์ยุงลายและวิธีป้องกันไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ได้ ซึ่งโฆษณาชุดนี้ได้เผยแพร่สู่ประชาชนเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อภาพเคลื่อนไหวบนป้ายกลางแจ้ง เช่น ตามรถไฟฟ้ามหานคร รถไฟฟ้าใต้ดิน สื่อบนรถเมล์ และสื่อดิจิทัล ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างนี้และสร้างความสนใจให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยยอดวิวบนสื่อใน Youtube และ facebook สูงถึงหลักล้านวิวแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับยุงลายแล้ว ขอให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อกำจัดยุงลายตามบ้านเรือนของตนเอง และในชุมชน รวมถึงการเฝ้าระวังเพื่อลดการเกิดโรคไข้เลือดออกต่อไป
- 42 views