สคอ.- สสส. ดึง สื่อ - หอกระจายข่าว ร่วมกระตุ้นเตือน “ลดความเร็ว = ลดความเสี่ยง” เผยโค้งหัวสะพาน เพชรบุรี จุดอันตรายติดอันดับ 7 ของประเทศ เหตุโค้ง ขับเร็ว เสียหลักชนเกาะกลาง ด้านแขวงทางหลวงเพชรบุรี ระบุปี 59-60 เกิดเหตุแล้วกว่า 5 ครั้ง เร่งปรับแก้คอสะพาน ติดตั้งป้ายจำกัดความเร็ว ตีเส้นชะลอความเร็ว ตั้งแต่ ก.พ.60 ถึงปัจจุบันพบอุบัติเหตุเป็นศูนย์
วันที่ 21 ก.ย.60 ณ จ.เพชรบุรี - สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ(สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุม“สานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์” เพื่อการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เขต 4, เขต 5 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนการดำเนินงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ โดยมีนายวิรัช เพ็ญจันทร์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ รักษาการหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เพชรบุรี เป็นประธานเปิดประชุม ร่วมด้วยนายนพดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลาง คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด นายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด นายบรรเจิด พ่วงสวัสดิ์ ผู้แทนสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สนพท.) และนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)
นายวิรัช เพ็ญจันทร์
นายวิรัช เพ็ญจันทร์ (รก.) หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เพชรบุรี กล่าวว่า กลไกการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนจังหวัดเพชรบุรี โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ได้มีการจัดทำข้อเสนอตามนโยบาย แผนแม่บท ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนนระดับชาติ ขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ พร้อมมอบหน้าที่ให้คณะทำงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลตามเป้าหมาย ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน มีอัตราผู้เสียชีวิตลง ให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี พ.ศ. 2563 ตามประกาศเจตนารมณ์ปฏิญญามอสโก
ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานอุบัติเหตุทางถนน www.thairsc.com แสดงสถิติการเกิดอุบัติเหตุของผู้ที่มาใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กับ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ในปี 2559 พบว่าอำเภอที่มีการเกิดอุบัติเหตุแล้วเสียชีวิตสูงที่สุด 3 อันดับได้แก่อำเภอชะอำ เกิดอุบัติเหตุ 396 ครั้ง บาดเจ็บ 440ราย เสียชีวิต 26 ราย อำเภอเขาย้อย เกิดอุบัติเหตุ 178 ครั้ง บาดเจ็บ 193 ราย เสียชีวิต 23 ราย อำเภอเมือง เกิดอุบัติเหตุ 685 ครั้ง บาดเจ็บ 764 ราย เสียชีวิต 19 ราย สำหรับแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน คือ การบังคับใช้กฎหมายเข้ม นำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ควบคู่กับการกระตุ้นสร้างจิตสำนึก รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยด้วยการกำหนดมาตรการองค์กร การเฝ้าระวังและลดความเสี่ยง แก้ปัญหาจุดเสี่ยง เป็นต้น
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ด้านจัดการปัญหาการใช้ความเร็วในเขตเมือง โดยเฉพาะโมเดลการควบคุมความเร็วของพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีที่สามารถปรับแก้และควบคุมได้อย่างเห็นผล ซึ่งจังหวัดเพชรบุรีมีเส้นทางที่มีปริมาณรถมากวิ่งผ่านทั้งเขตเมืองและชุมชนเพราะเป็นเส้นทางหลักมุ่งสู่ภาคใต้ ดังนั้น การออกแบบ ทางกลับรถ ทางแยก ทางร่วม จึงต้องมีบริหารจัดการที่ดี นอกจากนี้สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในกลไกรป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด คือ การรวมกลุ่มของทีมสหวิชาชีพ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะมีการทำงานร่วมกันที่มีทั้ง แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ปภ. ทางหลวง ท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ร่วมรับรู้ปัญหา สาเหตุ และแก้ไขร่วมกันอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้มาตรการด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ต้องอาศัยสื่อมวลชน เครือข่ายในพื้นที่ตลอดจนผู้ที่ดูแลเสียงตามสายและหอกระจายข่าว ร่วมกันให้ข้อมูลและกระตุ้นเตือนประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนนให้มีความระมัดระวัง รวมถึงสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ระวังจุดเสี่ยงต่างๆที่มีเตือนคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ที่ขับผ่านเส้นทางที่ไม่ชำนาญ หรือมีความเสี่ยงสูงให้เพิ่มความระมัดระวังด้วยเช่นกัน เพราะจากข้อมูลพบว่าคนในพื้นที่เสียชีวิตมากกว่าคนนอกพื้นที่ เทียบอัตรา 4:6 ซึ่งเป็นที่น่ากังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาล
นายปิยวัฒน์ ไทรงาม รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงเพชรบุรี กรมทางกลวง กล่าวว่า การดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน ปี 2560 ที่แล้วเสร็จ ได้แก่ งานปรับปรุงทางหลวง (หน้าโรงเรียน) จำนวน 19 แห่ง จุดตัดทางรถไฟ จำนวน 2 แห่ง และการแก้ไขปรับปรุงโค้งหัวสะพาน ต.หัวสะพาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นโค้งที่อันตรายสุดเป็นอันดับ 7 ของประเทศ เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักมุ่งภาคใต้ รถมีปริมาณมากและใช้ความเร็วเกินกำหนด เกิดอุบัติเหตุหลุดโค้ง เสียหลัก ชนกำแพงและกระเด็น บาดเจ็บ เสียชีวิตสูง โดยสถิติอุบัติเหตุจุดโค้งหัวสะพานในปี 2559 – 2560 เกิดเหตุแล้ว 5 ครั้ง มีอุบัติเหตุใหญ่ คือ รถทัวร์ชนเกาะกลางแล้วพลิกคว่ำเกาะกลางถนน เจ็บ13 ราย จากเหตุการณ์ดังกล่าว แขวงทางหลวงเพชรบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไข โดยการปรับระดับคอสะพาน ติดตั้งป้ายเตือนโค้งเสริม ติดตั้งป้ายจำกัดความเร็วแบบไฟกระพริบกำหนดความเร็ว 60และ 45 กม. ควบคู่กับการตีเส้นชะลอความเร็ว ทำเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ซึ่งจากการแก้ไขปรังปรงมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 จนถึงปัจจุบันพบอุบัติเหตุเป็นศูนย์
“ปี 2561 จะเพิ่มการติดตั้ง your speed sign หรือป้ายกำหนดความเร็วของรถแบบติดตั้งด้านบน ที่จะบอกความเร็วของรถแต่ละคันที่วิ่งผ่าน และทาสีพื้นป้องกันการลื่นไถลหรือ Anti- skid เป็นพื้นสีแดง ส่วนเกาะกลางถนนจะทาพื้นสีขาวและขีดเป็นลูกศรสีแดงเพื่อให้มองเห็นชัดเจน เป็นการช่วยควบคุมความเร็ว ลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนได้มากยิ่งขึ้น” นายปิยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมได้แก่ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมสื่อช่อสะอาด สมาคมเคบิลทีวีแห่งประทศไทย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัด และหอกระจายข่าวเสียงตามสายในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี อ่างทอง นครนายก ลพบุรี สิงห์บุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมกว่า 80 คน
- 12 views