สพฉ.เปิด 5 อาการฉุกเฉินที่เข้ารับบริการสูงสุด พบ หายใจลำบาก/ติดขัด ครองแชมป์เข้ารับบริการฉุกเฉินตามนโยบายฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ หรือ UCEP
เรืออากาศเอกอัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึง กรณีมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยอาการหอบเฉียบพลัน แต่ไม่เข้าข่ายกรณีฉุกเฉินทำให้ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ยืนยันว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ตระหนักถึงภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน และได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสต่อการรอดชีวิต และลดโอกาสเสี่ยงต่อความพิการทุพพลภาพ หากผู้ป่วยรายใดเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤติและเงื่อนไขการบริการสามารถเข้าร่วมตามนโยบายนี้ได้ทันที
ซึ่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งมีภาวะ คุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันที เพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง ได้แก่
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. เจ็บหน้าอกรุนแรงเฉียบพลัน
4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็นหรือมีอาการชักร่วม
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. มีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจ การไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
เรืออากาศเอกอัจฉริยะ กล่าวถึง ผลการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) หรือ UCEP Coordination Center ว่า ผลการดำเนินงานตลอด 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 สิงหาคม ในโรงพยาบาลเอกชน 269 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ มีสถิติผู้ขอใช้สิทธิทั้งสิ้น 12,710 ราย เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 5,782 ราย ไม่เข้าเกณฑ์ 6,885 ราย และรอการประเมิน 43 ราย และในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 7,668 ราย จากสิทธิประกันสังคม 2,475 ราย จากสิทธิข้าราชการ 2,080 ราย และจังหวัดที่เข้ารับบริการมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ สมุทรปราการ ชลบุรี พิษณุโลก นนทบุรี และสมุทรสาคร
ส่วนอาการผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับบริการมากที่สุดคือ
1.หายใจลำบาก/ติดขัด 1,848 ราย
2.ป่วย/อ่อนเพลีย/ไม่จำเพาะ 1,602 ราย
3.แน่นทรวงอก/หัวใจ 1,412 ราย
4.อัมพาต/กล้ามเนื้ออ่อนแรง/สูญเสียการรับความรู้สึก 1,190 ราย
5.อุบัติเหตุยานยนต์ 1,079 ราย
หากมีข้อสงสัย สามารถโทรสอบถามได้ที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส สพฉ) หมายเลข 02-8721669 ตลอด 24 ชั่วโมง และหากต้องการร้องเรียนหรืออุทธรณ์ เรื่องการประเมินและการคัดแยกระดับความฉุกเฉิน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการฉุกเฉิน สามารถแจ้งได้ที่ Email: ucepcenter@niems.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง
- 808 views