มพศ.เสนอตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ์” หลังพบปัญหา “กลุ่มคนไร้บ้าน” มีคนไทย 100%” แต่เข้าไม่ถึงสิทธิบัตรทอง เหตุไม่มีบัตรประชาชน/เลข 13 หลักรับรอง สารพัดเหตุ ทั้งพ่อแม่ไม่แจ้งเกิด หนีออกจากบ้าน ถูกทิ้งตามวัด ขาดหลักฐานแสดงตน ชี้ส่วนใหญ่ปล่อยให้ป่วยหนักหามเข้า รพ. เพราะไม่มีสิทธิ แถมไม่มีเงิน ซ้ำช่วยลดภาระ รพ.จากค่ารักษาพยาบาลได้
น.ส.วรรณา แก้วชาติ
น.ส.วรรณา แก้วชาติ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวว่า ในการประชุมรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและรับบริการ ประจำปี 2560 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลคนไร้สิทธิ์” เพราะจากการทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้าน พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ รวมถึงการรักษาพยาบาลที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนไทย เกิดและอยู่ในประเทศไทยมาโดยตลอด ไม่ใช่คนต่างด้าว แต่ไม่มีบัตรประชาชนรวมถึงเลข 13 หลัก โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนหนีออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก ซึ่งบางคนถูกครอบครัวกระทำความรุนแรงจนไม่อยากกลับบ้าน บางคนถูกพ่อแม่ทิ้งไว้ที่วัด หรือบางคนถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล ไม่มีการแจ้งเกิด ทำให้ไม่มีหลักฐานนำไปแสดงตัวเพื่อทำบัตรประชาชนได้ หรือบางคนแม้ว่าจะมีบัตรประชาชน แต่หลังจากออกจากบ้านมานาน เร่ร่อนตามที่ต่างๆ ไม่มีการต่ออายุบัตรประชาชน นานวันก็ทำให้รายชื่อหลุดออกจากทะเบียนราษฎร์ไป
ในอดีตสิทธิที่เกี่ยวข้องกับบัตรประชาชนนั้นมีไม่มาก แต่ระยะหลังสวัสดิการต่างๆ เพื่อประชาชน ส่วนใหญ่ต่างผูกติดอยู่กับบัตรทั้งสิ้น ทำให้คนเหล่านี้ต้องหมดสิทธิ์ไป อีกทั้งการพิสูจน์ตนเองนั้น มีความยุ่งยากมาก ต้องใช้เวลานาน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่จำเป็นได้ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลที่เป็นสิ่งจำเป็น ทำให้คนเหล่านี้ในยามเจ็บป่วยต้องดูแลตัวเองและเมื่อไม่มีเงิน ส่วนใหญ่จะซื้อยาชุด ยาร้านยากินเอง หรือขอยาตามหน่วยแพทย์ต่างๆ ที่ลงพื้นที่ และบางคนก็เจ็บป่วยเรื้อรัง เมื่อไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น ภาวะโรคก็จะรุนแรง ซึ่งคนเหล่านี้บ่อยครั้งต้องเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 มารับตัวไปโรงพยาบาล และเมื่อไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาจึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลอีก
“บ่อยครั้งที่มูลนิธิฯ ได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาล นอกจากให้ไปช่วยรับตัวผู้ป่วยที่เป็นคนไร้บ้านแล้ว ยังขอให้ช่วยจ่ายค่ารักษา มีตั้งแต่หลักหมื่นจนเกือบหลักแสนบาท เพราะในการทำงานของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะมีการให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้ไม่มีใครก็จะคิดถึงมูลนิธิฯ แทน ซึ่งที่ผ่านมาเราต้องแจ้งกับโรงพยาบาลว่า เราเป็นเพียงมูลนิธิฯ ที่ทำงานกับคนไร้บ้านเท่านั้น ไม่มีเงินที่จะจ่ายค่ารักษาให้ได้”
น.ส.วรรณา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้ครอบคลุมบริการสุขภาพและการรักษาถึงคนไทยในประเทศทั้งหมด แต่ภายหลังจากการตีความของกฤษฎีกาที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิคือคนไทยที่มีบัตรประชาชนและเลข 13 หลักเท่านั้น ทำให้คนไร้บ้านต้องถูกจำกัดสิทธิไป ดังนั้นในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงร่วมสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 5 ให้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมถึงกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับในการแก้ไข ขณะเดียวกันในช่วงระหว่างรอการแก้ไขกฎหมาย หรือการพิสูจน์สถานะตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลานานมาก และเรื่องเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ทั้งยังเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้นจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ์” ก่อน โดยรัฐบาลอาจสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม หรือใช้งบประมาณทั้งจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยรอพิสูจน์สถานะก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ทั้งนี้การจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ์ ได้นำเสนอมาหลายปีแล้ว ซึ่งในการหารือแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้กับผู้มีรายได้น้อยในวันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 และในเวทีการรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและรับบริการ โดย สปสช.ที่ผ่านมา จึงได้มีการนำเสนออีกครั้ง ซึ่งในคราวนี้พอที่จะสร้างความเข้าใจและชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บ้าง ต้องย้ำว่าคนเหล่านี้เป็นคนไทย ไม่ใช่ต่างด้าว เพียงแต่ไม่มีบัตรประชาชน โดยคาดว่าทั่วประเทศน่าจะมีประมาณ 50,000-100,000 คน ซึ่งเมื่อเจ็บป่วยขึ้นโรงพยาบาลที่รับดูแลก็สามารถเบิกจ่ายจากกองทุนนี้ได้ ขณะเดียวกันยังทำให้เข้าถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การคัดกรอง และการรักษาต่อเนื่องในกรณีเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยหนักจนต้องหามเข้ารักษา
นอกจากนี้กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ ทั้งขนาดกองทุนและงบประมาณจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากหากคนเหล่านี้สามารถผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและมีเลข 13 หลัก ก็จะเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพตามสิทธิที่มีอยู่ตามปกติ
“ปัญหาขณะนี้คือยังขาดเจ้าภาพหลักในการผลักดันจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ์ แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันว่า คนเหล่านี้ควรมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่นเดียวกับคนไทยที่มีบัตรประชาชน ดังนั้นจึงต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ ทั้งนี้อยากให้มีการจัดตั้งโดยเร็ว เรื่องรักษาพยาบาลเป็นสิ่งจำเป็นและรอไม่ได้ ซึ่งต้องบอกว่าคนเหล่านี้ยังมีสิทธิที่ด้อยกว่าคนต่างด้าวที่สามารถซื้อบัตรสุขภาพได้ แต่คนเหล่านี้ ทั้งสิทธิรักษาพยาบาลในระบบทั้งที่เป็นคนไทยก็ไม่ได้รับ หากจะซื้อบัตรประกันสุขภาพก็ทำไม่ได้ จึงเป็นกลุ่มคนไทยที่เข้าไม่ถึงสิทธิจริงๆ” เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชุมชน มพศ.กล่าว
- 140 views