รองนายกรัฐมนตรีณรงค์ ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ตามแนวคิด “คนไทย ใส่ใจดูแลกัน” ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพิ่มคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการช่วยเหลือกัน เน้นหนักในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กปฐมวัย รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งเป้าครบทุกอำเภอในปี 2561
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ที่โรงพยาบาลแก่งคอย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (District Health Board : DHB) และให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 (ด้านสาธารณสุข) ได้เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการ ตัวแทนภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและตัวแทนภาครัฐเป็นคณะกรรมการ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามสภาพปัญหาของแต่ละอำเภอ เน้นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ยากไร้ เด็กปฐมวัย อุบัติเหตุ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขยะ สิ่งแวดล้อม ให้ได้รับการดูแลและเข้าถึงบริการของรัฐ
ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวคิด “คนไทย ใส่ใจดูแลกัน” มีเป้าหมายเพิ่มคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การใช้ชีวิตแบบสังคมเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และโรคเรื้อรังที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นโดยความร่วมมือของ 4 กระทรวงหลักและภาคีเครือข่ายอาทิ มหาดไทย สาธารณสุข การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการในปี 2559 นำร่องใน 73 อำเภอ ในปี 2560 จะขยายไปใน 200 อำเภอและจะครอบคลุม 878 อำเภอในปี2561 โดยได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับการดำเนินงานให้สามารถบูรณาการงบประมาณและนำทรัพยากรทั้งจากภาครัฐภาคเอกชนและประชาชนมาใช้ในการทำงาน พร้อมทั้งปรับแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพส่งเสริมให้เกิดกลไกประชารัฐขับเคลื่อนระบบสุขภาพครอบคลุมทุกพื้นที่ตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีประชากรประมาณ 100,000คน เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นเกือบร้อยละ13 และมีปัญหาคนสูงอายุ ผู้พิการ ไม่คนดูแล ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนด้อยโอกาส ทั้งด้านสังคม ความเป็นอยู่ และการสาธารณสุข ให้มีคุณภาพชีวิตและสถานะสุขภาพดีขึ้นลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน โดยมียุทธศาสตร์สำคัญดังนี้
1.การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ใช้ “พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง”โดยรับฟังความคิดเห็นและส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในรูปแบบประชารัฐ
2.จัดประชุมระดมความคิดเพื่อกำหนดประเด็นปัญหา และวางแผนการแก้ไขและพัฒนา มอบหมายงานตามบทบาทของหน่วยงาน
โดยคณะกรรมการฯ ได้วิเคราะห์พบมี 8 ประเด็นปัญหาสำคัญ และได้คัดเลือกมาแก้ไขและพัฒนาใน 3 ประเด็น คือ คุณภาพอาหารเพื่อการบริโภค อุบัติเหตุจราจร ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ผลการดำเนินงาน ลดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุได้ 116 จุด จากทั้งหมด 122 จุด ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากจราจรได้ร้อยละ 15 จาก ปี 2559 พัฒนาตลาดสดน่าซื้อและตลาดนัดผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่งเสริมการการเลี้ยงสัตว์ปลูกผักปลอดสารพิษ ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส มีทีมโอบอุ้มจิตอาสาดูแล ได้รับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ด้วยการสร้างบ้าน ซ่อมแซมบ้าน ห้องน้ำรวม 152 หลัง และได้รับการเยี่ยมดูแลช่วยเหลือจากคณะกรรมการฯ 1,133 ราย พร้อมมีรถรับ-ส่งเข้าเมื่อต้องเข้ารับบริการ
- 11 views