เลขาธิการ สพฉ.สั่งสอบสวนกรณีประชาชนร้องเรียนรถพยาบาลจากระบบ 1669 เรียกเก็บเงินญาติผู้ป่วย ยันให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย คาดรู้ผลไม่เกิน 1 เดือน ชี้หากผลสอบพบเจ้าหน้าที่ให้บริการเรียกรับเงินจริง ถูกปรับสูงสุด 1 แสนบาท ตามกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินมาตรา 37
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีที่มีข้อร้องเรียนว่ามีเจ้าหน้าที่ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเรียกเก็บเงินจากญาติผู้ป่วยในการใช้บริการสายด่วน 1669 เมื่อไม่นานมานี้ว่า สพฉได้ติดต่อไปยังญาติผู้ป่วยรายนั้นตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเรื่องร้องเรียน และได้มีการสอบถามข้อมูลในเบื้องต้น ทราบว่าเป็นข้อมูลที่เป็นจริง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ให้บริการและทางผู้ป่วย ทาง สพฉ.จึงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง หากมีเหตุอันไม่สมควรและพบว่าเป็นเหตุที่ไม่ถูกต้องก็จะดำเนินการต่อไป
“ข้อร้องเรียนนี้ เราต้องหาข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ซึ่งในเชิงของข้อกฎหมายนั้น สพฉ.มีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินที่คอยกำกับดูแลในเรื่องนี้ รวมทั้งมีคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินที่จะมีการออกกฎหมายใหม่มาควบคุมกำกับหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินให้ดียิ่งขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ทีมงานไปคุยกับทางญาติผู้ป่วย และส่วนของผู้ที่เรียกรับเงินจากญาติผู้ป่วย ซึ่งเหตุเกิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สพฉ.จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างศูนย์เอราวัณมาพูดคุยด้วย คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนจะได้คำตอบในเรื่องนี้” เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าวเลขาธิการ สพฉ.กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เราต้องดูในข้อเท็จจริงว่ามีเหตุที่จะต้องลงโทษหรือไม่ถ้าเป็นการเข้าใจผิดก็อาจจะไม่มีการลงโทษ แต่หากพบว่าเจ้าหน้าที่ ที่ให้บริการมีความผิดจริงภายใต้พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน ตามมาตรา 37 สามารถที่จะปรับโทษทางปกครองได้ 1 แสนบาท ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยขณะนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการมาสอบสวนในเรื่องนี้แล้ว
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าวต่อว่า ปกติการโทร 1669 ตามหลักการ เราจะให้บริการภายในพื้นที่ประมาณ20 กิโลเมตร หมายความว่า กรณีเกิดเหตุภายใน 20 กิโลเมตร จะมีการให้บริการในการรับส่งผู้ป่วยในพื้นที่นั้นฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย บางกรณีอาจจะเกิดจากญาติที่ต้องการข้ามเขต ซึ่งหมายความว่า อาจจะไปตามโรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งอาจจะไกลกว่า 20 กิโลเมตร ซึ่งตรงนี้เราต้องมาหาข้อสรุป ว่าเกิดจากประเด็นอะไร ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้ของญาติ แต่มีความประสงค์อยากจะไปในพื้นที่ที่ไกลกว่าพื้นที่ที่เรากำหนดตรงนี้ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของการจำกัด 20 กิโลเมตรในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอาจจะดีในบริบทหนึ่ง แต่กรณีการนำส่งผู้ป่วยในกลุ่มอื่นๆ เราอาจต้องมาดูในข้อกฎหมาย ที่จะพิจารณาให้เหมาะสมต่อไปในอนาคตได้
ทั้งนี้ สพฉ.ได้เปิดศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติไว้ ซึ่งใช้หมายเลข 02-872-1669 ในการที่จะตอบคำถามหรือรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิการรักษาตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ ยกตัวอย่างของการร้องเรียกจากญาติผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะบางทีการให้บริการจำนวนมากๆ หรือมีผู้ใช้บริการ 1669 ในจำนวนมาก ในการให้บริการ อาจะมีส่วนที่ดีและไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง ซึ่ง สพฉ.จะเป็นตัวกลางและดูแลคุ้มครองสิทธิของประชาชน
- 1742 views