กระทรวงสาธารณสุขกำชับจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่หลังน้ำลด เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ขอประชาชนคงมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปริมาณยุงและจำนวนผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
นพ.โสภณ เมฆธน
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติว่า ยังเหลือใน 6 จังหวัด คือกาฬสินธุ์ นครพนม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี และพระนครศรีอยุธยา สถานบริการพยาบาลที่ถูกน้ำท่วมเปิดให้บริการได้ปกติ มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3 แห่งย้ายไปให้บริการในจุดที่ประชาชนเข้าถึงสะดวก
อย่างไรก็ดี ได้ช่วงสัปดาห์นี้ ยังมีฝนตกหนักในภาคตะวันออก ภาคใต้ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งจะมีฝนตกมากขึ้นในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจากลมมรสุม ขอให้สถานบริการติดตามสถานการณ์พร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และดำเนินการตามมาตรการรับมืออุทกภัยของกระทรวงสาธารณสุขต่อเนื่อง
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคที่มาจากยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่มาจากยุงลายเพิ่มขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นสาเหตุของโรค หลังน้ำลดอาจจะมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ประกอบกับในหลายพื้นที่ยังมีฝนตก จึงขอความร่วมมือจากประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 15 สิงหาคม 2560 พบผู้ป่วย 17,297 ราย โดยภาคกลาง 2,813 คน ภาคใต้ 2,636 คน ภาคเหนือ 2,439 คน และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วย 2,524 ราย ซึ่งพบว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมในปี2559 พบผู้ป่วย 1,317 ราย ซึ่งน้อยกว่าในปี 2560 ที่พบ 1,207 ราย
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้เลือดออก คือไม่ให้ยุงกัด โดยการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ลดลง ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่
1.เก็บบ้านให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
2.เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่
เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออกคือ ไข้สูงลอยเกิน 38.5 องศาเซลเซียส 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น เบื่ออาหาร อาเจียน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด หรือลดชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรักษา การดูแลผู้ป่วยเมื่อมีไข้ ให้เช็ดตัวผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด รับประทานยาตามแพทย์สั่ง รับประทานอาหารอ่อนและที่ทำให้สดชื่น เช่น น้ำเกลือ น้ำผลไม้ พักผ่อนมาก ๆ และหมั่นสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย โดยเฉพาะช่วงที่สำคัญและถือว่าอันตรายที่สุดคือช่วงที่ไข้ลด ซึ่งประมาณตั้งแต่ 3-5 วันหลังป่วย หากซึมลง อ่อนเพลีย รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและควรให้ข้อมูลเรื่องอาการ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์/ สถานที่รักษาบ่อย ๆ และไม่ควรทานยาแอสไพรินกับกลุ่มไอบูโปรเฟนเพราะทำให้เลือดออกง่าย
ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 20 views