นายกทันตแพทยสภายันไม่เคยมีคนผ่าฟันคุดแล้วเป็นอัมพาต ชี้กรณีผู้ป่วยใน จ.สุราษฎร์ธานี เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหลังผ่าฟันนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนกลัวการผ่าฟันคุด
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ
ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า กรณีที่คนไข้รายหนึ่งได้ร้องทุกข์ผ่านรายการคลายทุกข์ชาวบ้าน ช่องอมรินทร์ทีวี (ดูข่าว ที่นี่) ว่าเข้ารับการผ่าฟันคุดในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี แล้วเป็นอัมพาต มีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงนั้น ยืนยันว่าในทางการแพทย์ไม่เคยเกิดกรณีคนไข้ผ่าฟันคุดแล้วเป็นอัมพาต นอกจากนี้ระบบเส้นประสาทและเส้นเลือดในบริเวณที่ผ่าฟันคุดกับส่วนที่เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็เป็นคนละระบบกัน ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้เข้าใจผิด ตื่นตระหนกหรือกลัวที่จะต้องผ่าฟันคุด
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือคนไข้มารับบริการครั้งแรกที่โรงพยาบาลประจำอำเภอโดยมีอาการติดเชื้อจากฟันกรามคุด ปวดและบวมที่ขากรรไกร รวมทั้งบวมและเจ็บที่แขนด้วย ซึ่งโรงพยาบาลประจำอำเภอได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลจังหวัดก็รับตัวและทำการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะและผ่าเอาฟันคุดที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อออก
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า กรณีนี้จำเป็นต้องผ่าเอาฟันคุดออกเพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ แพทย์ได้ทำตามขั้นตอนทุกอย่างจนอาการติดเชื้อหายไป ในระหว่างที่นอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น คนไข้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและฝังใจว่ามีสาเหตุจากการผ่าฟันคุด อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์ อาการที่เกิดขึ้นไม่สัมพันธ์กับการผ่าฟันคุดเพราะระบบเส้นประสาท เส้นเลือดต่างๆ เป็นคนละระบบกัน ซึ่งหลังจากมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้น ทางแพทย์ด้านระบบประสาทและผู้เชี่ยวชาญได้พยายามหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรแต่ก็หาสาเหตุไม่เจอ จึงได้รักษาไปตามอาการจนกระทั่งดีขึ้นและให้กลับบ้านได้
ทพ.ไพศาล กล่าวว่า คนไข้รายนี้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากคณะอนุกรรมการตามมาตรา 41 ของ จ.สุราษฎร์ธานี 1 แสนบาท เพราะถือว่าเกิดอาการขณะอยู่ที่โรงพยาบาลและแพทย์ก็หาสาเหตุไม่ได้ ต่อมาคนไข้อุทธรณ์ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจากการพิจารณาข้อมูลต่างๆ แล้วเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร คณะกรรมการควบคุมฯ สปสช.จึงจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเพิ่มให้อีก 1.16 แสนบาท ซึ่งการจ่ายเงินนี้เป็นการช่วยเหลือเยียวยาแก่คนไข้แต่ไม่ได้หมายความว่ามีรักษาผิดพลาดแต่อย่างใด
“การมาให้ข่าวแบบนี้ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่าผ่าฟันคุดแล้วจะทำให้เป็นอัมพาต แขนขาอ่อนแรง ซึ่งในทางการแพทย์ไม่เคยมีรายงานแบบนี้เกิดขึ้น ผมอยากให้ข้อแนะนำแก่ประชาชนว่า ฟันคุดเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการติดเชื้อ อย่างเคสนี้เป็นตัวอย่างชัดว่าสาเหตุที่มาโรงพยาบาลเพราะติดเชื้อจากฟันคุด ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้คนไข้เอาออกและการผ่าฟันคุดก็เป็นเรื่องที่ทันตแพทย์ทำกันโดยปกติ ไม่ใช่เหตุอันตรายร้ายแรง จึงอยากให้ประชาชนไม่ต้องตกใจหรือกลัวเกี่ยวกับการผ่าฟันคุด” ทพ.ไพศาล กล่าว
- 151 views