Jake Novak Senior columnist, CNBC.com รายงานถึงธุรกิจประกันสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเปรียบเทียบกับธุรกิจค่าปลีกออนไลน์อย่างอเมซอนว่า
“กระแสอเมซอน” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้เครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ต่างถึงแก่กาลพังพาบ เพียงเพราะอินเตอร์เน็ตช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าทุกชนิดได้อย่างสะดวกดายจนไม่เหลือพื้นที่ให้แก่ธุรกิจค้าปลีก และหากเทียบกับตลาดประกันสุขภาพอันเป็นสินค้าที่ชาวอเมริกันทุกคนจะต้องมีก็จะเห็นได้ชัดว่าโรงพยาบาลนั่นเองที่กำลังจะสวมบทบาทเป็นอเมซอนแห่งธุรกิจประกันสุขภาพ
แท้จริงแล้วการประกันสุขภาพในสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่บนพื้นฐานทางธุรกิจที่แปลกประหลาด โดยทั่วไปแล้วแผนประกันภัยทำหน้าที่ประกันความเสี่ยงต่อการสูญเสียร้ายแรงหรือไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งในกรณีแผนประกันสุขภาพก็จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลก้อนใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เช่น ค่าผ่าตัดฉุกเฉิน อย่างไรก็ดีค่าประกันสุขภาพที่ถีบตัวขึ้นและการบังคับให้ชาวอเมริกันต้องมีประกันสุขภาพภายใต้กฎหมายโอบามาแคร์นั่นเองที่ทำให้ประกันสุขภาพกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดแผกออกไป
ปัจจุบันประกันสุขภาพในสหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นคนกลางทำหน้าที่จัดสรรค่ารักษาพยาบาลที่รู้แน่ชัด (หรือเกือบแน่ชัด) เช่น ค่าตรวจสุขภาพและหัตถการทั่วไป ซึ่งนำมาสู่คำถามว่าจำเป็นด้วยหรือที่ชาวอเมริกันจะต้องซื้อประกันสุขภาพของบริษัทเอกชนหากมีผู้ประกอบการรายอื่นสามารถให้บริการที่สะดวกกว่าเดิมด้วยราคาที่ต่ำกว่า
อันที่จริงโรงพยาบาลซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบสุขภาพของสหรัฐฯ ได้เริ่มขายแผนประกันสุขภาพมาระยะหนึ่ง และเห็นได้ชัดว่าโรงพยาบาลกำลังพยายามตัดคนกลางออกไปจากระบบ โดยรวบการบริการให้มาอยู่ในมือของตน ขณะเดียวกันก็ขยายการบริการให้มีความหลากหลายและครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
แม้การที่โรงพยาบาลหันมาเข้าสู่ตลาดประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2010 (พ.ศ.2553) จะยังไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจเมื่อเทียบกับบริษัทประกัน แต่ผู้บริหารโรงพยาบาลรายหนึ่งมองว่าแผนธุรกิจนี้จะเริ่มออกดอกผลในระยะยาว และยิ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ลดการอุดหนุนงบประมาณกองทุนโอบามาแคร์หรือปฏิรูปกฎหมายระบบสุขภาพ (ACA) ก็จะยิ่งเป็นการบีบบริษัทประกันเอกชนออกจากตลาดและช่วยให้โรงพยาบาลมีคู่แข่งน้อยลง
โรงพยาบาลอาจแข่งขันด้วยวิธีง่ายๆ เช่น เสนอส่วนลดก้อนโตในกรณีที่ซื้อประกันสุขภาพของตนแทนคู่แข่ง ซึ่งโรงพยาบาลสามารถทำได้เต็มที่โดยไม่แยแสว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทใดบ้างเพราะโรงพยาบาลมี “การรักษาพยาบาล” อันเป็นสินค้าหลักที่ผู้บริโภคต้องการอยู่แล้ว
กระนั้นต้องไม่ลืมว่าบริษัทประกันและโรงพยาบาลมีสายสัมพันธ์อันดีซึ่งเอื้อประโยชน์แก่โรงพยาบาลในการควบคุมราคา ขณะเดียวกันก็ทำให้บริษัทประกันอ้างได้อย่างหนักแน่นว่าชาวอเมริกันทุกคนจำเป็นต้องมีประกันสุขภาพ หรืออธิบายในอีกทางหนึ่งได้ว่าโรงพยาบาลยังคงมีบทบาทเป็นผู้กำหนดราคาและขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาลทุกรูปแบบ ขณะที่บริษัทประกันมีบทบาทเป็นผู้บรรเทาผลกระทบจากค่ารักษาพยาบาลที่อาจแพงถึงขั้นล้มละลายเพราะผู้ป่วยที่มีประกันไม่ต้องจ่ายค่ารักษาเต็มจำนวน
แท้จริงแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รู้ว่าค่ารักษาตามจริงนั้นอยู่ที่เท่าใด และการไม่เปิดเผยค่ารักษาทำให้โรงพยาบาลสามารถโขกค่ารักษาได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องพะวงกับเสียงตำหนิจากชาวบ้าน เราอาจรู้ตัวเลขเบี้ยประกันสุขภาพที่ต้องจ่ายรายเดือน แต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าค่ารักษานั้นอยู่ที่เท่าใดจนกว่าจะได้รับการรักษาและได้รับเอกสารชี้แจงค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกัน
บริษัทประกันสุขภาพอยู่ได้เพราะขายความคิดให้ลูกค้าเชื่อว่ามีเพียงตนเท่านั้นที่จะช่วยบรรเทารายจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ ซึ่งคำกล่าวอ้างดังกล่าวจะยิ่งน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกเมื่อโรงพยาบาลเพิ่มค่ารักษาพยาบาล แต่เมื่อใดก็ตามที่เราตระหนักได้ว่าโรงพยาบาลสามารถให้บริการที่ดีกว่านี้โดยไม่ต้องมีบริษัทประกัน ก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดหากโรงพยาบาลจะกวาดบริษัทประกันออกไปจากวงการเร็วกว่าที่อเมซอนยื่นจุดจบให้กับร้านหนังสือใกล้บ้าน
แปลและเรียบเรียงจาก How hospitals could kill the health insurance industry โดย Jake Novak Senior columnist, www.cnbc.com
- 24 views