คมส. แนะกรมอนามัยปรับยุทธศาสตร์สุขภาวะพระสงฆ์ วางแผนปฏิบัติการระยะ ๑ ปี เน้นปูพรมสร้างการมีส่วนร่วมคนทั้งสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนและพระสงฆ์ พร้อมให้ความสำคัญการพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมือง รองรับเมืองขยายตัว โดยใช้ กทม. เป็นพื้นที่ต้นแบบองค์ความรู้ก่อนกระจายงานสู่เมืองใหญ่ในต่างจังหวัด

เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ชุดใหม่ ซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ ๑๖/๒๕๖๐ ขึ้นมาทำหน้าที่แทนคณะกรรมการชุดเดิมที่หมดวาระลง โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ

โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ๒ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมาติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต ๒ เป็นประธานอนุกรรมการ และ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ มี ดร.วณี ปิ่นประทีป ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานอนุกรรมการ โดยให้ประธานทั้ง ๒ คณะได้พิจารณาเพิ่มเติมกรรมการ เพื่อให้มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยสนับสนุนให้การขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ไปสู่ความสำเร็จ

นพ.ปิยะสกล เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามมติสมัชชาแห่งชาติเรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” โดยมอบหมายให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักไปปรับแผนยุทธศาสตร์ชาติพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะให้แล้วเสร็จภายใน ๑-๒ เดือน และนำเสนอต่อที่ประชุม คมส. ครั้งต่อไป โดยให้ยึดหลักการสำคัญ ๓ เรื่อง คือ

๑.พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย

๒.ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฎฐากพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย

๓.บทบาทพระสงฆ์กับการเป็นแกนนำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นแนวทางที่คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ, สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ร่วมกันวางไว้

“ต้องการเร่งรัดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะ ๑ ปีรองรับยุทธศาสตร์ฯ เพราะการเดินหน้าเรื่องนี้ ต้องเร็ว ต้องทำแผนให้ชัดว่าใน ๑ ปีจะทำอะไร จะเกิดผลอะไรได้บ้าง และต้องให้สะเทือนทั้งสังคม”

ประธาน คมส. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก และท่านยังเป็นตัวอย่างได้อย่างดีในการดูแลสุขภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะพระสงฆ์ โดยที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมได้บรรจุเรื่องวัดส่งเสริมสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติเข้าสู่แผนงานสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ เพื่อให้การขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการต่อไป

“การขับเคลื่อนเรื่องนี้จะสำเร็จได้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพราะเป็นเรื่องความเชื่อและพฤติกรรมด้วยในการตักบาตร หรือใส่บาตรอาหาร รวมถึงถวายภัตตาหารให้กับพระสงฆ์ ที่มุ่งอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้รับ เป็นต้น และเห็นว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องปรึกษากับมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ด้วย ให้ปรับระเบียบกองทุนให้ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ได้ เพราะจะช่วยลดพระสงฆ์อาพาธ ลดภาระของการรักษาพยาบาลได้อย่างดี”

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กล่าวว่า ๒ แนวทางหลักที่กรมอนามัยขับเคลื่อน ประกอบด้วย ๑.โครงการพัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพ ที่ทำอย่างต่อเนื่องมากกว่า ๑๐ ปี กลไกหลักเป็นการอบรมพระอาสาสมัครสุขภาพประจำวัด (พระ อสว.) แต่พบว่าทำไปได้เพียง ๓,๐๐๐ วัดจาก ๓๐,๐๐๐ วัด ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของเจ้าอาวาสของแต่ละวัดเป็นหลัก และ ๒.ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการยกร่าง เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุม คมส. ยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานมติ “ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๕๘ ที่นับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความซับซ้อนด้านประชากรที่มีแนวโน้มการเคลื่อนย้ายแรงงานสู่เมืองเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง กรุงเทพมหานครที่มีผู้คนอาศัยอยู่นับสิบล้านคน ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการดูแลสุขภาพที่เฉพาะเจาะจง โดยผลการดำเนินงานสำคัญในช่วงที่ผ่านมา คือ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดทำยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าการยกร่างแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีตัวแทนจากกรุงเทพมหานครเข้ามาเป็นที่ปรึกษา คมส. และร่วมเป็นคณะทำงานในชุดต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อเรื่องระบบบริการสุขภาพในเขตเมือง และนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมือง ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มาเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้บุคลากรรุ่นใหม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพเขตเมือง จากปัจจุบันที่มีเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการสุขภาพในชนบทเป็นหลักอีกด้วย