เครือข่ายชนเผ่าฯ วิพากษ์กองทุนคืนสิทธิ ชี้มีประโยชน์ช่วยให้คน 5 แสน ไม่ล้มละลายจากการรักษา ปลดเปลื้องภาระหนี้สินโรงพยาบาล สนับสนุนชายแดนป้องกันโรค ระบุยังมีช่องโหว่อีก 3 ประการ
นายวิวัฒน์ ตามี่
นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 23 มี.ค.2553 ตอนหนึ่งว่า สามารถจำแนกประโยชน์ของกองทุนคืนสิทธิได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่
1.ปัจจุบันมีผู้ที่สิทธิในกองทุนคืนสิทธิประมาณ 5 แสนราย คนเหล่านั้นจะเข้าถึงการบริการรักษาพยาบาล ทำให้ไม่ต้องประสบกับความเสี่ยงที่จะล้มละลายทางการเงินจากความเจ็บป่วย
2.ช่วยให้โรงพยาบาลลดภาระหนี้สิน
3.สนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมป้องกันโรคตามแนวชายแดนให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามในกองทุนคืนสิทธิก็ยังมีปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข โดยแบ่งออกเป็น 1.กลุ่มผู้ตกหล่นและยังเข้าไม่ถึงสิทธิกองทุนคืนสิทธิ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มคนจีนโพ้นทะเลประมาณ 3.8 หมื่นราย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และถูกปลดสิทธิไปเมื่อปี 2556 มาจนถึงปัจุบัน ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นมีสถานะเป็นกลุ่มผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย
"เขาเหล่านั้นไม่ได้สิทธิบัตรทองเพราะไม่ใช่บุคคลที่มีสัญชาติไทย และไม่ได้สิทธิในกองทุนคืนสิทธิเพราะไม่ได้ถูกนิยามให้เป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้ควรได้รับสิทธิและใช้งบประมาณจำนวนไม่มาก เพราะมีแค่ 3.8 หมื่นรายเท่านั้น" นายวิวัฒน์ กล่าว
นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เพียงแค่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำเรื่องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก็สามารถที่จะอนุมัติได้แล้ว เพราะสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมการปกครอง สำนักงบประมาณ ไม่ได้มีปัญหาและให้ความเห็นสนับสนุนอย่างเต็มที่แล้ว ฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่า สธ.จะปลดล็อกให้เมื่อใด
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังตกค้างก็คือกลุ่มเด็กนักเรียนที่ตกหล่นจากการสำรวจและไม่มีเลข 13 หลัก แต่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการศึกษารายหัวจากรัฐบาล และอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6.7 หมื่นคน โดยคนกลุ่มนี้เคยเข้าที่ประชุม ครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2558 แต่ ครม.ตีกลับให้มาทบทวนตัวเลขให้ชัดเจนอีกครั้ง และให้พิจารณางบประมาณที่เหมาะสม ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
นายวิวัฒน์ กล่าวถึงปัญหาของกองทุนคืนสิทธิอีกว่า ข้อ 2 คือปัญหาการเข้าถึงสิทธิ ซึ่งแม้ว่าคนไร้สัญชาติจะได้รับสิทธิแล้วกว่า 5 แสนคน แต่บุคคลเหล่านั้นก็ยังประสบปัญหาในการใช้สิทธิ เช่น การเข้ารับบริการ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาการสื่อสาร ภาษา ซึ่งเป็นข้อจำกัดให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้ารับบริการ และนำไปสู่ปัญหาเรื่องการลงทะเบียนใช้สิทธิด้วย
"ปัญหาเหล่านี้เกิดจาก สธ.ไม่ได้นำบุคคลเหล่านี้มาตั้งเป้าหมายเพื่อจัดทำตัวชี้วัดในการให้บริการ เมื่อไม่มีตัวชี้วัดก็ไม่มีระบบการประเมินผล จึงไม่ทราบว่าการดำเนินการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ฉะนั้นจึงเสนอว่า สธ.ควรนำคนกลุ่มนี้มาเป็นเป้าหมายเพื่อจัดทำตัวชี้วัดในการประเมินผลด้วย" นายวิวัฒน์ กล่าว
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นคือประเด็นที่ 3 คือสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากับบัตรทอง ไม่สามารถเข้าถึงโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ติดเชื้อเอชไอวี โรคไตวาย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าคนเหล่านี้เป็นคนไทยซึ่งรอเพียงการได้รับสัญชาติจึงควรได้รับสิทธิเท่ากับบัตรทอง
- 40 views