The New York Times รายงานเรื่องความซับซ้อนของระบบสุขภาพที่นำไปสู่การออกเป็นนโยบายเกี่ยวกับระบบสุขภาพที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กระทั่งประธานาธิบดีทรัมป์ยังต้องออกปากว่า “ไม่มีใครรู้หรอกว่าระบบสุขภาพจะซับซ้อนขนาดนี้” แต่อันที่จริงความซับซ้อนของระบบสุขภาพก็เป็นที่ทราบกันอยู่ดี และทำให้เรากังขาว่าทำไมระบบสุขภาพจึงได้ซับซ้อนนัก บริการรักษาพยาบาลนั้นต่างจากสินค้าและบริการอื่นในระบบเศรษฐกิจอย่างไร แล้วด้วยเหตุใดกันเล่านโยบายระบบสุขภาพถึงได้เป็นเรื่องวุ่นวายหนักหนา
วิชาเศรษฐศาสตร์บอกเราว่าทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจแปรผันไปตามกำลังของอุปสงค์และอุปทานในตลาด ส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะกำหนดปริมาณสินค้าที่จะนำมาขยายเพื่อที่จะสร้างผลกำไรสูงสุด และผู้บริโภคตัดสินใจว่าควรซื้อในปริมาณเท่าใดเพื่อที่จะตอบสนองการดำรงชีพได้ดีที่สุด โดยที่กลไกราคาจะทำให้อุปสงค์และอุปทานสมดุลกัน
ส่วนใหญ่แล้วตลาดจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยดีโดยที่รัฐบาลแทบไม่ต้องเข้ามาแทรกแซง แต่ระบบตลาดเสรีกลับทำให้เราเดือดร้อนเมื่อเป็นตลาดระบบสุขภาพ โดยมีสาเหตุจาก
1.ผลกระทบภายนอก
ผู้ซื้อและผู้ขายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในตลาดส่วนใหญ่ แต่ในตลาดระบบสุขภาพนั้นการตัดสินใจมักกระทบไปถึงคนที่อยู่รอบนอกด้วย ยกตัวอย่างการฉีดวัคซีนป้องกันโรคก็จะลดโอกาสติดเชื้อ รวมถึงการเป็นพาหะนำโรคและทำให้โรคระบาดสู่ผู้อื่น แต่เนื่องจากเรามักละเลยประโยชน์ทางอ้อมและชั่งน้ำหนักจากต้นทุนและประโยชน์ที่เราจะได้รับเป็นหลัก จึงทำให้จำนวนผู้ได้รับวัคซีนมีจำนวนน้อยหากรัฐบาลไม่เข้ามาสนับสนุน การวิจัยทางการแพทย์เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดว่า การศึกษาวิจัยจะไม่ได้รับทรัพยากรอุดหนุนเท่าที่ควรหากปราศจากการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในแง่งบประมาณหรือระบบขึ้นทะเบียนที่มีประสิทธิภาพ
2.ผู้บริโภคไม่ทราบความจำเป็นของตนเอง
ในตลาดส่วนใหญ่ผู้บริโภคสามารถตัดสินได้ว่าพึงพอใจกับสินค้าที่ซื้อหรือไม่ แต่ในกรณีที่เจ็บป่วยผู้บริโภคมักไม่รู้ว่าตนต้องการอะไร และบางครั้งก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและทำให้ต้องพึ่งคำแนะนำของแพทย์ซึ่งยากจะประเมินได้ชัดเจน ปัญหาการประเมินคุณภาพของบริการรักษาพยาบาลดังกล่าวจึงนำมาสู่การตราระเบียบข้อบังคับ เช่น การออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์สำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล รวมถึงการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อกำกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเวชภัณฑ์
3.รายจ่ายการรักษาพยาบาลอาจแพงมากหรือต้องจ่ายโดยไม่คาดคิด
การจับจ่ายทั่วไป เช่น บ้าน อาหาร และค่าเดินทางมักตระเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่ค่ารักษาพยาบาลอาจเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนในลักษณะรายจ่ายก้อนโต การประกันสุขภาพเข้ามาแก้ปัญหานี้โดยอาศัยหลักการเฉลี่ยความเสี่ยงในกลุ่มประชากร ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็หมายความว่าผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่เอง เนื่องจากมีกองทุนบุคคลที่สามเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงิน
4.ผู้บริโภคที่มีประกันมักได้รับบริการมากเกินไป
ในอีกทางหนึ่งการมีประกันสุขภาพทำให้ผู้บริโภคละเลยพิจารณาความคุ้มค่าของบริการที่ได้รับ ตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่าบริการสำหรับการนัดตรวจแต่ละครั้งก็อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์บ่อยเกินไปแม้เจ็บป่วยเล็กน้อย ขณะที่แพทย์ก็มักสั่งตรวจที่มีความจำเป็นน้อยเมื่อทราบว่าผู้รับประกันรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
เพื่อที่จะแก้ไขปัญหานี้ผู้รับประกันจึงอาศัยระบบร่วมจ่าย ส่วนลดค่าบริการ และกำหนดข้อบังคับเพื่อจำกัดการเข้าถึงบริการ อย่างไรก็ดีระบบร่วมจ่ายและส่วนลดกลับส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเฉลี่ยความเสี่ยงของผู้รับประกัน ขณะที่ข้อบังคับการเข้าถึงบริการก็อาจนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างผู้รับประกันและลูกค้า
5.ตลาดประกันสุขภาพได้รับผกระทบจากการเลือกที่ไม่เป็นธรรม
หากผู้บริโภคมีลักษณะพื้นฐานต่างกัน (เช่นในกรณีที่มีโรคเรื้อรัง) และปกปิดไม่ให้ผู้รับประกันทราบก็อาจนำไปสู่ปัญหารายจ่ายที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภครายอื่น เช่น หากผู้รับประกันต้องเรียกเก็บประกันสุขภาพในราคาเดียวกันสำหรับผู้บริโภคทุกราย ก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคที่มีสุขภาพดีที่สุดมองว่าค่าประกันสูงเกินไปและถอนตัวออกจากการเฉลี่ยความเสี่ยง เมื่อเหลือแต่ผู้บริโภคที่มีสุขภาพอ่อนแอก็ทำให้ผู้รับประกันต้องเพิ่มค่าประกันให้สูงขึ้นจนกระทั่งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงลำดับถัดมามองว่าไม่คุ้มค่าและถอนตัวออกไปอีก
เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็จะยิ่งทำให้มีคนถอนตัวออกไปมากขึ้นจนเหลือแต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ขณะที่ค่าประกันก็จะยิ่งสูงขึ้นจนกระทั่งตลาดประกันพินาศไปในที่สุด
กฎหมาย Affordable Care Act (หรือที่เรียกกันว่าโอบามาแคร์) พยายามลดปัญหาการเลือกที่ไม่เป็นธรรมโดยบังคับให้ชาวอเมริกันทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพและกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่มีประกัน กฎหมายนี้ดำเนินไปท่ามกลางเสียงวิจารณ์และการสนับสนุน และยังคงไม่สามารถผลักดันให้ชาวอเมริกันมีประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ตามเป้าหมาย และในอีกทางหนึ่งการที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ บังคับให้ประชาชนต้องซื้อสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าตลาดระบบสุขภาพนั้นผันผวนมากเพียงใด
แนวทางแก้ไขปัญหาตลาดระบบสุขภาพยังคงเป็นประเด็นที่ทุ่มเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน ฟากนักการเมืองฝ่ายซ้ายต้องการให้รัฐบาลมีบทบาทชัดเจนขึ้น ขณะที่ฝ่ายขวาก็ต้องการให้ข้อบังคับยืดหยุ่นมากขึ้น และทำให้เราเห็นได้ชัดว่าความซับซ้อนในตัวนโยบายสุขภาพนั้นจะยังคงอยู่ไปตลอดกาล
ขอบคุณที่มาจาก Why Health Care Policy Is So Hard โดย N. GREGORY MANKIW The New York Times (www.nytimes.com)
- 418 views