อาจารย์คณะแพทย์ ม.ขอนแก่นชี้ล้างไตทางช่องท้องช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ-ลดภาวะล้มละลายทางการเงิน แม้เปรียบเหมือนเสื้อโหลก็ดีกว่าไม่มีใส่เลย ย้ำระยะแรกต้องเน้นการเข้าบริการถึงก่อน ถัดไปค่อยปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะกับเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ในระยะที่ผ่านมามีนักวิชาการบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเรื่องการบริหารจัดการที่ให้ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพได้เหมือนกันหมด เช่น ซื้อยาแบบเหมาโหลให้คนไข้ ทำให้ได้ผลการรักษาที่ไม่ดี เปรียบเสมือนซื้อเสื้อโหล ไม่ยอมตัดให้เหมาะกับแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าการมีเสื้อโหลก็ยังดีกว่าการไม่มีเสื้อใส่เลย เพราะก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง คนที่ไม่มีกำลังจ่ายก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เปรียบเหมือนคนไม่มีเสื้อผ้าใส่ แต่เมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพ อย่างน้อยก็ยังมีเสื้อ แม้เสื้อตัวนั้นจะไม่พอดีตัว เป็นเสื้อโหล แต่ก็สามารถใส่ได้ ให้ความอบอุ่นได้ ซึ่งดีกว่าไม่มีให้ใส่เลย
รศ.นพ.สมศักดิ์ ยกตัวอย่าง เรื่องการล้างไตทางช่องท้อง ในอดีตสมัยที่ตนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ได้ดูแลผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งซึ่งมีอาการไตวายเรื้อรัง ต้องรับการรักษาด้วยการฟอกเลือดทางหลอดเลือด (hemodialysis) ซึ่งครอบครัวผู้ป่วยรายนี้มีเงินเก็บ 5 ล้านบาทและมีกิจการที่มีผลกำไรตลอด
“สามีผู้ป่วยถามผมว่าการรักษานี้จะยาวนานแค่ไหน ใช้เงินแค่ไหน และการรักษาระหว่างการฟอกเลือด กับการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) อะไรจะดีกว่ากัน สุดท้ายก็เลือกการรักษาด้วยการฟอกเลือด ผมก็อธิบายว่า การรักษานี้ต้องรักษาไปตลอดชีวิต (ขณะนั้นยังไม่มีการผ่าตัดเปลี่ยนไต) ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนก็ประมาณ 7 หมื่นบาท ทั้งค่าฟอกเลือด ค่ายา ค่าเดินทาง ทางสามีก็เลือกวิธีการรักษาดังกล่าว เพราะมั่นใจว่าน่าจะมีรายได้เพียงพอต่อการรักษา” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากรักษาไปได้ 2 ปี เงินเก็บสะสม 5 ล้านบาทลดลงมาเหลือ 3 ล้านบาท กิจการที่บ้านเริ่มไม่ปกติเพราะต้องปิดบ่อยๆ ตนให้คำแนะนำสามีผู้ป่วยไปว่าควรจะเก็บเงินที่เหลือไว้ให้ลูก 2 คนเรียนหนังสือ และประคับประคองผู้ป่วยดีกว่า เพราะถึงรักษาไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็แพ้อยู่ดี เมื่อเงินหมด ทุกอย่างก็หมด ผู้ป่วยก็เสียชีวิต ลูกๆ ก็จะไม่มีเงินเรียนหนังสือ กิจการที่บ้านก็หมด ทางสามีผู้ป่วยก็เข้าใจแต่ด้วยความรักที่มีต่อภรรยาทำให้ยังคงตัดสินใจเดินหน้ารักษาภรรยาแบบเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปอีก 1 ปีสถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยอาการหนักมาก เงินที่เหลือก็เกือบหมดแล้ว กิจการที่ร้านก็ต้องปิดตายเพราะสามีต้องมาเฝ้าภรรยาตลอดเวลา สรุปสุดท้ายเงิน 5 ล้านบาทก็หมด ร้านก็ต้องปิดตาย ผู้ป่วยก็เสียชีวิต หมดทุกอย่าง
“ผมจำภาพทุกภาพทุกเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย ผมเล่าให้นักศึกษาแพทย์บางรุ่นได้ฟังว่าอดีตก่อนที่ไม่มีบัตรทองนั้นคนไทยลำบากอย่างไร โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวาย เราไม่มีเงิน ก็ต้องปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาโดยที่ทำอะไรไม่ได้จริงๆ” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้คณะแพทย์ขอนแก่นจึงได้พัฒนาระบบการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยการล้างไตทางช่องท้องตามสิทธิประโยชน์บัตรทองเพราะสามารถให้ผู้ป่วยไปทำการรักษาได้เองที่บ้าน ยังทำงานได้ ไปไหนมาไหนได้ ถึงแม้จะมีผลการรักษาดีไม่เท่าเทียมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ก็ตาม แต่ส่วนตัวคิดว่ายังดีกว่าไม่ได้รับการรักษาเลยและสามารถลดการล้มละลายของครอบครัวได้มากมาย
“เรื่องไต ผมคิดว่าตอนนี้อยู่ในช่วงแรก ซึ่งเราคงเน้นการเข้าถึงระบบบริการให้ได้ถ้วนหน้ากันก่อน พอทุกอย่างเข้าที่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องรายละเอียด มาปรับรายละเอียดให้ดีขึ้นเป็นกลุ่มๆ ให้ชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้ควรรักษาด้วยวิธีนี้ ก็ค่อยๆปรับในระยะถัดไป แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องการทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงระบบบริการได้ถ้วนหน้าเท่ากันก่อน หากรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ผลก็ยังสามารถเปลี่ยนไปใช้การฟอกเลือดได้” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์คนหนึ่งแม้ไม่ได้เป็นหมอโรคไตโดยเฉพาะ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าในภาพรวมของคนส่วนใหญ่แล้ว การล้างไตทางช่องท้องให้ความสะสวกสบายกว่าชัดเจน ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสามารถช่วยเหลือชีวิตคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ถึงแม้จะไม่ดีสูงสุดแต่ก็ไม่เป็นภาระกับคนอื่นมาก
“ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1.คนไทยเข้าถึงก่อน 2.คนส่วนใหญ่สามารถใช้วิธีนี้ได้และทำได้เลย ถ้าเราใช้วิธีฟอกเลือดก็ต้องมาผ่าตัดต่อหลอดเลือด ต้องมีสถานพยาบาลที่รับฟอกเลือด ซึ่งจะเห็นช่วงตอนน้ำท่วม ปี 2554-2555 คนในจังหวัดที่น้ำท่วมไม่รู้จะฟอกเลือดยังไง แต่ถ้าล้างทางช่องท้องเอง แม้บ้านจะถูกน้ำท่วมก็ยังล้างได้” รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
- 9 views