ผู้อำนวยการ รพ.สังขละบุรี ระบุ เม็ดเงินกองทุนรักษาคนไร้สถานะหรือกองทุนคืนสิทธิช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องโรงพยาบาล ยืนยัน การเงินดีขึ้นอย่างชัดเจน หวังบริหารจัดการทิศทางเดียวกับบัตรทอง
นพ.กฤษดา วุธยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 23 มี.ค.2553 ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ทางการเงินในภาพรวมของโรงพยาบาลสังขละบุรีหลังจากมีกองทุนคืนสิทธิ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บางประการ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณที่มีข้อกำหนดทำให้ใช้ค่อนข้างยาก แต่ที่สุดแล้วต้องยอมรับว่ากองทุนคืนสิทธิช่วยให้สภาพคล่องของโรงพยาบาลดีขึ้นอย่างชัดเจน
นพ.กฤษดา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลสังขละบุรีมีวิกฤตทางการเงินอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมาก แต่เมื่อได้เงินส่วนนี้มาช่วยบริหารจัดการก็ทำให้สถานการณ์ในขณะนี้ค่อนข้างปลอดภัย เงินบำรุงคงเหลือมีมากขึ้น โดยโรงพยาบาลสังขละบุรีมีประชากรกลุ่มนี้อยู่ราวๆ 2 หมื่นคน ฉะนั้นงบประมาณที่ได้รับมาจึงค่อนข้างมีนัยยะสำคัญทางการเงิน
"เมื่อได้เงินส่วนนี้มา โรงพยาบาลก็จะนำมาบริหารจัดการภายในเอง โดยจะใช้จ่ายในรายการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ เช่น ค่ายา เวชภัณฑ์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดคือไม่สามารถนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายประจำ หรือค่าจ้างบุคลากรได้" นพ.กฤษดา กล่าว
นพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า ส่วนตัวคิดว่าแนวทางการพัฒนากองทุนคืนสิทธิควรจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องหรือเหมือนกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่บริหารโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนประเด็นวิธีการใช้งบประมาณก็ควรเป็นแนวทางเดียวกันด้วย
"ผมคิดว่าเรื่องวิธีการเบิกจ่ายน่าจะเป็นแบบเดียวกันกับบัตรทอง ส่วนอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวนั้นทุกวันนี้ที่ได้อยู่ก็โอเคอยู่แล้ว เพราะรายหัวจากกองทุนคืนสิทธิได้มากกว่าบัตรทอง เนื่องจากไม่ต้องหักเงินเข้ากองทุนย่อยต่างๆ" นพ.กฤษดา กล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังขละบุรี กล่าวว่า เมื่อมีเม็ดเงินจากกองทุนคืนสิทธิเข้ามาย่อมส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการและทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีผู้ป่วยนอกประมาณ 250 คนต่อวัน ขณะที่ในอดีตอยู่ที่ 200 คน เท่านั้น ตรงนี้สะท้อนว่าผู้ใช้สิทธิกองทุนคืนสิทธิรับทราบสิทธิของเขาและเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น
"มันเกือบ 10 ปี เขารับทราบสิทธิของเขาแล้ว จำนวนผู้ใช้บริการจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลสังขละบุรียังอยู่แนวชายแดนประชิดประเทศพม่า จึงมีชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเข้ามารับการรักษาจำนวนมาก แต่โรงพยาบาลก็ไม่เคยปฏิเสธการรักษา ซึ่งแน่นอนว่าแหล่งรายได้จากกองทุนคืนสิทธิก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โรงพยาบาลอยู่ได้" นพ.กฤษดา กล่าว
- 53 views