สสส.มอบแว่นสายตาแก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ชายแดน จ.ตาก ในโครงการ “Wonder View มากกว่าแว่นตา คืออนาคตที่สดใส” ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก พร้อมเปิดพื้นที่ห่วยใย “นับเราด้วยคน”ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้าใจ รับบริจาคแว่นตาหรือสมทบทุนร่วมโครงการฯ
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 ที่โรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ จังหวัดตาก ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิฟอร์เวิร์ด จัดทำโครงการ “Wonder View มากกว่าแว่นตา คืออนาคตที่สดใส” ภายใต้แนวคิด “นับเราด้วยคน” จัดกิจกรรมมอบแว่นตาให้แก่นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหาด้านสายตา ซึ่งนับเป็นปัญหาที่สำคัญของเด็กนักเรียนในพื้นที่ชายแดนที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร ทำให้ลูกหลานของกลุ่มชาติพันธุ์ และประชากรข้ามชาติในพื้นที่ไม่สามารถมีแว่นตาเป็นของตัวเอง มีปัญหาในการเรียนรู้เนื่องจากมองไม่เห็นตัวอักษรบนกระดานในห้องเรียน อ่านหนังสือได้ยาก ส่งผลต่อเสียต่อพัฒนาการทางการศึกษาของเด็ก
ปัญหาเรื่องแว่นตาในโรงเรียนเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และประชากรข้ามชาติในประเทศไทย ยังประสบกับปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพที่ปลอดภัยและเป็นมิตร ดังนั้น สสส.จึงต้องการสื่อสารให้สังคมไทยรับรู้และตระหนักถึงตัวตนของกลุ่มประชากรชายขอบที่ถูกละเลย มองเห็นปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่ชัดขึ้น เห็นช่องว่างและความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาได้รับ พร้อมเปิดโอกาสและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแบบ inclusive society หรือสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน โดยครั้งนี้มีผู้ที่ร่วมบริจาคแว่นตามือสอง 62 อัน และเงินสมทบทุนซื้อแว่นตา 97,140 บาท เพื่อมอบให้กับเด็ก ๆ โรงเรียนชุมชนบ้านพบพระ และนักเรียนในโรงเรียนอื่น ๆ ตามบริเวณแนวชายแดนและพื้นที่ห่างไกล
ด้าน นางธารินี ศิริวัลย์ หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลพบพระ จ.ตาก กล่าวว่า ปัญหาสาธารณสุขชายแดนในกลุ่มเด็กมีความแตกต่างจากในเมือง เช่น ยังพบโรคระบาด โรคคอตีบ โรคมาลาเรีย การเข้าถึงวัคซีนต่ำ มีภาวะทุพโภชนาการ เด็กเตี้ย ผอม น้ำหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่เด็กในเมืองมีภาวะโภชนาการเกิน มากกว่า ร้อยละ 15 แต่ในพื้นที่ห่างไกลมีเด็กอ้วนเพียง ร้อยละ 2 นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กร้อยละ 20 มีปัญหาทางช่องปาก ฟันผุ และร้อยละ 10 มีปัญหาด้านสายตา ส่วนระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) พบว่า มีเชาวน์ปัญญาเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ (IQ 90) ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์สาเหตุปัญหาแล้วสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เด็กมีปัญหาด้านสายตา จึงหารือกันเพื่อหาทางในการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะการมองเห็นที่ชัดเจนส่งผลต่อการเรียนรู้
ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ในปี 2559 พบว่ามีกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิในอำเภอพบพระ 16,537 คน แม้ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการจัดตั้ง กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มีนาคม 2553 และมติครม. 20 เมษายน 2558 เพื่อให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติให้ได้รับสิทธิพื้นฐานในรับบริการสุขภาพเช่นเดียวกับประชาชนสัญชาติไทย แต่อัตราการใช้บริการของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิในพื้นที่จังหวัดตาก อยู่ที่ 0.36-0.64 ครั้งต่อคนต่อปี ในขณะที่ประชาชนสิทธิบัตรทองอัตราการใช้บริการเท่ากับ 2 ครั้งต่อคนต่อปี ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวสะท้อนถึงอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ อันเนื่องมาจากอุปสรรคทางภาษา การเข้าถึงข้อมูล ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และปัจจัยทางสังคมอื่นๆ
“Wonder View มากกว่าแว่นตา คืออนาคตที่สดใส” ภายใต้แนวคิด “นับเราด้วยคน” จัดกิจกรรมมอบแว่นตาให้แก่นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีปัญหาด้านสายตา ซึ่งนับเป็นปัญหาที่สำคัญของเด็กนักเรียนในพื้นที่ชายแดนที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร ทำให้ลูกหลานของกลุ่มชาติพันธุ์ และประชากรข้ามชาติในพื้นที่ไม่สามารถมีแว่นตาเป็นของตัวเอง มีปัญหาในการเรียนรู้เนื่องจากมองไม่เห็นตัวอักษรบนกระดานในห้องเรียน อ่านหนังสือได้ยาก ส่งผลต่อเสียต่อพัฒนาการทางการศึกษาของเด็ก
- 17 views