อุดรธานีเปิดตัวโครงการ “20 ตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ผนึกกำลังภาคีขับเคลื่อนประกาศ ตั้งเป้าปี 2561 อำเภอผ่านตำบลต้นแบบ ร้อยละ 50 และในปี 2564 เป็นจังหวัดต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ณ จ.อุดรธานี ในการประชุมสานพลังเครือข่ายขับเคลื่อนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน เขต 7 เขต 8 จังหวัดอุดรธานี โดยสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับจังหวัดอุดรธานี ได้จัดพิธีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “20 ตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน” จ.อุดรธานี โดยมีนายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี, นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.), นายนพดล สันติภากรณ์ กรรรมการผู้จัดการบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และ พ.ต.อ.ชัยพงษ์ ทรงพลนภจร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี
นายสุชัย บุตรสาระ
นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุดรธานีปีงบประมาณ 2560 (ข้อมูล 1 ตุลาคม2559-14 กรกฎาคม 2560) เกิดเหตุ 14,264 ครั้ง บาดเจ็บ 16,512 ราย (1047.17 ต่อแสนประชากร) เสียชีวิต 408 ราย (25.90 ต่อแสนประชากร) เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 43.56 ราย วันละ 1.43 คน เปรียบเทียบผู้เสียชีวิตช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 80 คน (ช่วงเวลา1 ตุลาคม-30มิถุนายน ปี 2559 = 312 คน และ ปี2560 = 392 คน)
จะเห็นถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากพฤติกรรมของคนที่ใช้ชีวิตกับความเร่งรีบ ใจร้อน ไม่เคารพกฎจราจร ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดร้อยละ 50 ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถร้อยละ 39 ยังไม่ป้องกันตนเองเพื่อลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คือไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 84 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยร้อยละ 73 ส่วนถนนที่เป็นจุดเสี่ยงไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนมากจะเป็นถนนในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้านร้อยละ 30 หรือถนนที่ดีเป็นทางตรงขยายกว้างไม่มีระบบการควบคุมความเร็ว
ที่อันตรายสุด คือ ถนนอุดรธานี-สกลนคร ระยะทาง 48 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตถึง 39 คน ถนนเส้นนี้เคยเป็นอันดับ 2 ถนนเสียชีวิตมากที่สุดของประเทศปี 2559 เสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด รถจักรยานยนต์ร้อยละ 74 โดยมีคู่กรณีเป็นรถปิกอัพร้อยละ 28 และไม่มีคู่กรณี (ลงข้างทาง/ชนวัสดุข้างทาง) ร้อยละ27 ปัญหาสำคัญของถนนสายหลัก คือ รถบรรทุก ชนท้ายรถบรรทุกขณะจอดไหล่ทางริมถนนเสียชีวิต 36 ราย รถบรรทุกชนคันอื่นเสียชีวิต 30ราย และถนนตามหมู่บ้านชนรถซาเล้งเสียชีวิตถึง 15 ราย
ดังนั้น โครงการ “ตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุดรธานี” คือสิ่งตอบโจทย์จังหวัดอุดรธานีลดผู้เสียชีวิตอุบัติเหตุทางถนนลงได้อย่างยั่งยืน ภายไต้กรอบแนวคิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของจังหวัด
นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุดรธานี เริ่มจากสถิติการเสียชีวิตอุบัติเหตุทางถนน ที่ สสจ.อุดรธานี มีการเก็บข้อมูลหลายฐานตาม นิยาม รวบรวมข้อมูลเป็นศูนย์เดียว คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ทุกหน่วยงานทั้งจังหวัดสามารถนำสถิตนี้ไปใช้ในการวางแผนได้โดยรายงานได้ทุกวัน ผู้เสียชีวิตได้สอบเชิงลึก โดยทีม SRRT-RTI ของพื้นที่หาสาเหตุทุกราย เพื่อนำสู่การแก้ปัญหาทันที โดยปีงบประมาณ 2559 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 396 ราย เป็นคนในพื้นที่ 326ราย (ร้อยละ83) โดยได้จัดลำดับตำบลผู้เสียชีวิตสูงสุดของแต่อำเภอ จำนวน 20 ตำบล รวมผู้เสียชีวิต จำนวน 79 ราย (ร้อยละ 24.23 คิดจากคนในพื้นที่เสียชีวิต)
จากสถิตินี้เกิดแนวคิดว่า เมื่อแต่ละตำบลซึ่งผู้บริหารในพื้นที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี คนในพื้นที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมกันจัดการสุขภาพตนเอง เกิดการรู้ลึกถึงสภาพปัญหาสามารถแก้ไขได้ตรงจุดและยังสร้างความยั่งยืนคงทนตลอดไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี จึงได้พัฒนาจากการดำเนินงานระบบจัดการสุขภาพอำเภอป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ขับเคลื่อนถึงระดับตำบล โดยคัดเลือกตำบลที่มีสถิติเสียชีวิตสูงสุดปีงบประมาณ 2559 จำนวน 1 ตำบลของอำเภอนำร่องประยุกต์ใช้ระบบสุขภาพตำบล เป็นตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ขับเคลื่อนร่วมกับกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ผ่านขึ้นสู่ศูนย์ความปลอดภัยทางถนนอำเภอ(ศปถ.อำเภอ) โดยใช้กลยุทธ์ “ 5 ส. 5 เสาหลัก” มีเป้าหมายจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุลดลงร้อยละ50จำนวนผู้บาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุลดลงร้อยละ 50 ตำบลมีหนึ่งถนนตัวอย่างปลอดภัย นักเรียนอนุบาลผ่านเกณฑ์ประเมินวินัยจราจรร้อยละ 90 ตั้งเป้าปี 2561 อำเภอผ่านตำบลต้นแบบ ร้อยละ 50 ปี 2562 ผ่านร้อยละ 50 ปี 2563 ร้อยละ 80 และในปี 2564 เป็นจังหวัดต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อรวบรวมและส่งผ่านข้อมูลไปยังผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ เช่น ผู้ปฏิบัติงานเสียงตามสาย หอกระจายข่าว เป็นสิ่งสำคัญที่สื่อและเครือข่ายจะต้องเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับกฎหมายและนโยบายเพื่อส่งผลให้เกิดกระแสะการรับรู้สู่ประชาชน ตลอดจนผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ ให้ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง
ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าสำคัญเช่นนี้ ควรมีช่องทางการติดต่อ และการสื่อสารกับหน่วยจัดการส่วนกลางควบคู่กันไปด้วย นำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนให้มากขึ้น จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนและผู้ที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลด้านเสียงตามสายและหอกระจายข่าว มุ่งดำเนินการไปทิศทางเดียวกัน คือ มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะประเด็นการ “ขับรถเร็ว”
สิ่งที่อยากเห็นคือ มีการประกาศนโยบายสาธารณะในพื้นที่ หรือมีมาตรการกำกับดูแลที่เป็นรูปธรรม เช่น การออกประกาศเขตพื้นที่ควบคุมความเร็ว การจัดทำป้ายสัญญาณเตือน หรือการออกเป็นมติประชาคมของพื้นที่ เรื่องการควบคุมการใช้ความเร็วที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน จากนั้นสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ ติดป้ายเตือนให้มีความครบถ้วนเพียงพอ ซึ่งไม่เพียงแค่รณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์เท่านั้น ต้องมุ่งการออกประกาศเป็นนโยบายสาธารณะ เพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนต่อไป
- 63 views