มธ.ผุดแอปฯ คัดกรองโรคอัลไซเมอร์ให้ความแม่นยำสุงสุด ประหยัด ลดภาระของญาติและโรงพยาบาล เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เริ่มใช้งานจริงแล้วที่ รพ.จุฬา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คิดค้นแอปพลิเคชั่น “การตรวจคัดกรองโรคอัลไซเมอร์และการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยอย่าง อัตโนมัติด้วยเสียงพูด” โดยสามารถใช้งานได้ผ่านสมาร์ทโฟน ทราบผลภายในครึ่งชั่วโมง ปัจจุบันสามารถใช้งานได้จริงในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบการใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวมี ความแม่นยำร้อยละ 99 พร้อมช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและโรงพยาบาลได้มาก

รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต

โดยผลงานดังกล่าวเป็นของ รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย พร้อมคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจากงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 45 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา

รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าวว่าปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจผู้สูงอายุมาแล้ว 5 ครั้ง ผลการสำรวจที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 66 ล้านคนมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 14.9 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 10 ล้านคน สอดคล้องกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยที่ให้ข้อมูลเมื่อปี 2558 โดยคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือในปี 2564 สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในอีกไม่ถึง 20 ปีจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) โดยผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 50-70 กำลังเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม บางรายไม่รู้ตัว ส่วนบางรายรู้ตัวช้าและต้องพบว่ารักษาไม่ได้แล้วอันเกิดจากการตายของเซลล์สมองเร็วกว่าวัยอันควร ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงและเป็นภาระต่อผู้ใกล้ชิดมากขึ้น ประกอบกับการคัดกรองโรคใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูงตลอดจนการขาด แคลนของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลห่างไกล

ตัวอย่างแบบทดสอบในแอปฯคัดกรองโรคอัลไซเมอร์ด้วยเสียงพูด

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้คิดค้นแอปพลิเคชั่น “การตรวจคัดกรองโรคอัลไซเมอร์และการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยอย่าง อัตโนมัติด้วยเสียงพูด” สำหรับผู้ที่เข้ารับการคัดกรองโรคทำการตอบคำถาม 21 ข้อ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที โดยคำถามดังกล่าวซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับภาษาไทย เหมาะสมกับบริบทของคนไทย ครอบคลุมทุกแง่มุม เช่น ด้านการรับรู้สภาวะรอบตัว (Orientation) เช่น ถามคำถามเรื่องเวลาและสถานที่ ณ ขณะนั้น, ด้านความตั้งใจและการคำนวณ เช่น การลบเลขทีถอยหลังทีละ 7, ด้านความจำ (Memory) เช่น บอกที่อยู่ บอกชื่อบุคคล, ด้านภาษา (Language) เช่น การบอกชื่อของสิ่งของ, ด้านความสามารถในการใช้ภาษาในการพูดอธิบาย (Verbal description ability) การเล่าเรื่องหรืออธิบายสถานการณ์จากภาพ เป็นต้น

เมื่อตอบคำถามครบ เสียงพูดของผู้เข้ารับการคัดกรองจะถูกนำไปวิเคราะห์ ทั้งคุณลักษณะทางสัญญาณ เช่น ความถี่มูลฐาน, ความเข้ม,การหยุด, จังหวะในการพูด และวิเคราะห์คุณลักษณะการใช้คำประเภทของคำต่าง ๆ ในภาษาเช่น คำนาม, คำสรรพนาม, คำกริยา, คำวิเศษณ์ เป็นต้น

จากนั้นปัญญาประดิษฐ์จะประมวลผล ออกมา 3 ระดับ คือผู้มีภาวะปกติ, ผู้มีภาวะความจำบกพร่องเล็กน้อย และผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งถือว่าสามารถประหยัดเวลาได้ มากจากเดิมใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงและมีความถูกต้องเพียงร้อยละ 70-90 ที่สำคัญสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจและประหยัดงบประมาณของโรงพยาบาลจากการซื้อเครื่องตรวจ ตลอดจนระยะเวลาในการตรวจที่กินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ทำให้ทางคณะผู้วิจัยกำลังพัฒนาให้ระบบมีการประมวลผลที่รวดเร็วและรองรับภาษาอื่นมากยิ่งขึ้นเพื่อให้การใช้งานมีความครอบคลุมและ ขยายผลสู่ผู้ป่วยกลุ่มอื่น

ทั้งนี้แอปพลิเคชั่นนี้สามารถใช้งานได้ผ่านสมาร์ทโฟนและมีความแม่นยำถึงร้อยละ 99

งานวิจัยดังกล่าวเป็นการทำวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับ พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญชโรจน์ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.จุฑามณี อ่อนสุวรรณ ภาควิชาภาษาอังกฤษและ ภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และ ดร.กฤษณ์ โกสวัสดิ์ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และใช้งานคัดกรองโรคให้ผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่งานชิ้นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่สร้างคุณประโยชน์ แก่วงการแพทย์ของไทยเท่านั้น แต่ยังได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจากงานInternational Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 45 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเร็วๆนี้ รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าวสรุป