มธ.ผุดแอพฯ คัดกรองโรคจอประสาทตาเสื่อมผ่านสมาร์ทโฟนรายแรกในโลก ได้รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกที่สวิสฯ เมื่อ เม.ย.60 ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ก่อนส่งต่อไปให้จักษุแพทย์รักษาอย่างละเอียด
ผศ.นพ.ณวพล กาญจนารัณย์ และ รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พัฒนา “การคัดกรองโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างอัตโนมัติจากภาพถ่ายจอตา โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือ “DeepEye Application” เป็นรายแรกของโลก โดย รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย ทั้งนี้คาดว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะช่วยลดอัตราส่วนผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม หรือ Age-related macular degeneration (AMD) ของไทยอันจะนำไปสู่การลดความเสี่ยงการสูญเสียทางการมองเห็นในผู้สูงอายุได้ เนื่องจากโรคดังกล่าวจะพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พร้อมกับสามารถลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนที่จะเข้าถึงการให้บริการด้านสาธารณสุขของผู้ป่วยในเมืองและชนบทได้
ทั้งนี้ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจากงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 45 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา
ผศ.นพ.ณวพล กาญจนารัณย์ อาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยและพัฒนาการคัดกรองโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างอัตโนมัติจากภาพถ่ายจอตา โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน กล่าวว่า ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกมีผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม หรือ AMD ประมาณ 20-25 ล้านคน ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และ 8 ล้านคนในจำนวนนี้สูญเสียการมองเห็น เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้อัตราส่วนผู้ป่วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นอันดับ 4 ของโรคที่เป็นสาเหตุของตาบอดในประชากรโลก ซึ่งอาจจะเป็นสถิติที่ไม่สู้ดีเท่าไหร่นักเพราะถือเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขไทยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน
โดยปัจจุบันโรคที่เกี่ยวกับตาที่คนไทยเป็นมากที่สุดอันดับ 1 คือโรคต้อกระจก เบาหวานขึ้นจอประสาทตา และต้อหินตามลำดับ แต่ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ไทยอาจมีโรค AMD ขึ้นมาอยู่เป็นอันดับที่ 2-3 แทน ซึ่งประเภทของโรค AMD มีทั้งแบบแห้ง (dry AMD) ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด โดยเกิดจากจุดกลางรับภาพจอประสาทตา (macular) ลดน้อยลงหรือเสื่อมสลาย จากกระบวนการเสื่อมตามอายุ (aging) ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นค่อย ๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งหากมีอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นเป็นปกติได้ แต่ก็ถือว่ายังมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคต้อกระจกและต้อหิน
ส่วนอีกประเภทคือโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (wet AMD) ที่พบประมาณร้อยละ 15-20 ของโรค AMD และมีความรุนแรงเนื่องจากทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วอันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดตาบอด แต่ปัจจุบันนอกจากอุบัติการณ์ของโรคนี้จะบ่อยตามอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่นแสงจากคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ช่วยเร่งให้จอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควรสำหรับผู้ที่ต้องการห่างไกลจากโรคดังกล่าวควรปฏิบัติตนดังต่อไปนี้
1.ควรงดสูบบุหรี่ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรค
2.รักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ไม่ให้สูงจนเกินไป
3.รับประทานอาหารมีสารแอนตี้ออกซิแด้นท์ที่มีในผักสีเขียวและเหลือง
4.หาอุปกรณ์ป้องกันหากใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน
5.ผู้ที่มีญาติป่วยเป็นโรคนี้ ควรได้รับการคัดกรองโรค เพราะมีรายงานค้นพบว่าโรคนี้อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หากพบแนวโน้มการเป็นโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การรักษา ลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์แล้วยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ โดยการคัดกรองจากแอปพลิเคชั่นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกัน
ทั้งนี้แอพพลิเคชั่นคัดกรองโรคจอประสาทตาเสื่อมนี้ไทยเป็นเจ้าแรกของโลกในการคิดค้น และในอนาคตเพื่อป้องกันโรคที่เกิดขึ้นกับการมองเห็นของไทย ทางคณะทีมวิจัยกำลังจะมีการคิดค้นและพัฒนาแอพพลิเคชั่นคัดกรองโรคต้อหินต่อไป
ด้าน รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศกรรมไฟฟ้าคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัยที่พัฒนา การคัดกรองโรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD) อย่างอัตโนมัติจากภาพถ่ายจอตา โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือ “DeepEye Application” กล่าวว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมีประโยชน์ในการคัดกรองผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม ก่อนส่งต่อไปให้จักษุแพทย์รักษาอย่างละเอียด
สำหรับวิธีการใช้แอพพลิเคชั่นนี้ ผู้ตรวจจะถ่ายภาพจอตาของผู้ป่วยแล้วนำภาพที่ได้มาประมวลผลผ่านแอพพลิเคชั่นว่าเป็นโรค AMD หรือไม่และเป็นประเภทใด โดยมีความแม่นยำถึงร้อยละ 99 แต่ปัจจุบันเนื่องจากประมวลผลต้องผ่านระบบโครงข่ายประสาทเทียม (artificial neural network) ที่สามารถเรียนรู้ และจดจำลักษณะเด่นของโรคตาชนิดต่าง ๆ ยังมีลักษณะภาพของจอประสาทตาในแอพพลิเคชั่นน้อย ทางคณะวิจัยจึงกำลังเพิ่มเติมลักษณะจอตาเข้าไปในโครงข่ายเพื่อให้เกิดความแม่นยำและมีความเสถียรมากยิ่งขึ้นซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจะสามารถนำไปใช้ได้จริงในสถานพยาบาล
อย่างไรก็ตามหากจักษุแพทย์ได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้จริง จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขระหว่างประชาชนในเขตเมืองใหญ่และชนบทของประเทศไทยให้น้อยลงได้และด้วยความอัจฉริยะของแอพพลิเคชั่นนี้ทำให้ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกจากงานInternational Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 45 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ด้วย
- 204 views