ผอ.รพ.อินทร์บุรี หนุนแก้กฎหมายบัตรทองแยกเงินเดือนบุคลากรจากค่าเหมาจ่ายรายหัว ชี้ทุกโรงพยาบาลอยากดูแลประชาชนให้มีคุณภาพ แต่ต้องมีระบบสนับสนุนระดับประเทศที่มีประสิทธิภาพด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้โรงพยาบาลดิ้นรนกันเอง เชื่อแยกเงินเดือนทำให้ได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวเท่าเทียมเป็นธรรม ปัญหาจบ
พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์
พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 โดยเฉพาะการแยกเงินเดือนระดับประเทศ เนื่องจากจะทำให้แต่โรงพยาบาลได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งหากมีการจัดการเช่นนี้ เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาการเงินของโรงพยาบาลต่างๆ จบลงได้
พญ.ดารารัตน์ ยกตัวอย่าง จ.สิงห์บุรี และโรงพยาบาลอินทร์บุรี โดยจังหวัดสิงห์บุรีมีประชากรเบาบาง ทั้งจังหวัดมีประมาณ 2.4 แสนคน ขณะที่โรงพยาบาลอินทร์บุรีรับผิดชอบ ¼ ของจังหวัด มีประชากร UC ไม่ถึง 4 หมื่นคน ซึ่งเงินจากค่าเหมาจ่ายรายหัวได้น้อยอยู่แล้ว เมื่อหักเงินเดือนบุคลากรออกไปก็ติดลบทันที เหลือเงินรายหัวเพียง 80 กว่าบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 255-2560 โรงพยาบาลอินทร์บุรีมีรายรับหลังหักเงินเดือนบุคลากรติดลบมาโดยตลอด ยกเว้นปี 2555-2556 ซึ่งมีการหักเงินเดือนครึ่งเดียว ทำให้ช่วงนั้นเหลือเงินมาใช้สำหรับการให้บริการประชาชนได้โดยที่ทางเขตไม่ต้องเกลี่ยเงินมาช่วยเหลือ แต่ปีอื่นๆ ติดลบและต้องรับเงินช่วยเหลือมาโดยตลอด หรือล่าสุดปี 2560 หลังจากหักเงินเดือนและรับเงินช่วยเหลือมาแล้ว เหลืองบสำหรับให้บริการประชาชน 22 ล้านบาท หรือเดือนละ 1.8 ล้านบาทสำหรับใช้จัดหาอุปกรณ์ ยาและบริหารหนี้สิน ซึ่งที่ทุกวันนี้โรงพยาบาลอยู่ได้เพราะการพยายามหารายได้เพิ่มและได้รับเงินบริจาคจากประชาชน
“พอดูจากข้อมูลจะเห็นว่าปีไหนที่ไม่ได้หักเงินเดือน ปีนั้นก็ไม่ต้องรับเงินช่วยเหลือหรือรับก็น้อยมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่แยกเงินเดือนระดับประเทศ ปัญหามันก็วนไปวนมาอยู่อย่างนี้ ต้องขอเงินช่วยเหลือ ฯลฯ และลงท้ายด้วยเงินไม่พออยู่ดี ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลอินทร์บุรีแล้ว ก็ยังมีโรงพยาบาลอื่นที่มีลักษณะเหมือนกันอยู่อีกไม่น้อยกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ การแยกเงินเดือนจากข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพจะช่วยให้เงินเหมาจ่ายรายหัวมีความเท่าเทียม จากนั้นค่อยดูว่าแต่ละโรงพยาบาลยังต้องการความช่วยเหลืออื่นๆ อีกไหม เช่น โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนขนาดต่างๆนอกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวแล้วควรมี minimum requirements เท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้” พญ.ดารารัตน์ กล่าว
พญ.ดารารัตน์ กล่าวอีกว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีหลักการตั้งแต่ต้นว่า “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม” ถ้ายึดหลักการทั้ง 3 นี้แล้วกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมมือกัน เชื่อว่าปัญหาจะจบ ประชาชนก็ไม่ต้องลำบาก ทุกวันนี้คนสิงห์บุรีก็ไม่พอใจว่าเป็นคนสิงห์บุรีแล้วผิดตรงไหน ทำไมได้ค่ารายหัวน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช้ความผิดประชาชนแต่เป็นเพราะระบบบริหารจัดการระดับประเทศไม่ดี
“พูดแทนโรงพยาบาลทั่วประเทศเลย ทุกโรงพยาบาลเหมือนกันหมดคือไม่ว่าจะได้งบเท่าไหร่ จะติดลบหรือไม่ติดลบ ทุกคนก็พยายามรักษาคนไข้ให้ได้คุณภาพตามวิชาชีพของเรา ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องได้รับการสนับสนุน มีการบริหารจัดการในระดับประเทศที่ดี ไม่ใช่ให้เราไปกระเสือกกระสนดิ้นรนเอง ประชาชนก็ต้องดิ้นรนมาช่วยกันบริจาค ซึ่งถ้าระบบบริหารระดับประเทศมีประสิทธิภาพ เงินมาถึงหน่วยบริการอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เราเชื่อว่าเราให้บริการประชาชนได้ดีแน่ๆ” พญ.ดารารัตน์ กล่าว
- 152 views