ในโอกาสที่กระแสแพทย์ลาออกจากระบบราชการ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากความอึดอัดกับระบบราชการ Hfocus.org ขอนำข้อเขียนของ รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเคยเขียนเรื่องนี้เผยแพร่ทาง "ในระหว่างปฏิบัติงาน 3 ปีนี้และระหว่างการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง ผมว่ามีหลายอย่างที่คนทั่วไปไม่เคยรู้ และอาจมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อแพทย์เพิ่มพูนทักษะและแพทย์ประจำบ้าน" ส่วนตัวเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่มีกระแสแพทย์ลาออกจากระบบราชการ และอีกไม่กี่เดือนปัญหาเรื่องนี้ก็กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
ความจริงที่คาดไม่ถึงกับแพทย์เพิ่มพูนทักษะและแพทย์ประจำบ้านไทย
“นักศึกษาแพทย์ใช้เวลาเรียนนาน 6 ปี เมื่อจบแล้วทุกคนต้องทำงานเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะและใช้ทุนในโรงพยาบาลของรัฐ 3 ปี ซึ่งในปีแรกแพทย์เพิ่มพูนทักษะจะปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจะไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลทั่วไปจนครบ 3 ปี หลังจากนั้นแพทย์ส่วนหนึ่งก็จะมาศึกษาต่อเฉพาะทาง ที่เรียกว่าแพทย์ประจำบ้าน บางส่วนก็ทำงานต่อในโรงพยาบาลเดิมหรือย้ายโรงพยาบาล
ในระหว่างปฏิบัติงาน 3 ปีนี้และระหว่างการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง ผมว่ามีหลายอย่างที่คนทั่วไปไม่เคยรู้ และอาจมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อแพทย์เพิ่มพูนทักษะและแพทย์ประจำบ้าน ได้แก่
1. เงินเดือนไม่ได้สูงมากมาย เป็นไปตามหมวดเงินเดือนของข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ หรือลูกจ้างโครงการ วุฒิการศึกษาเทียบเท่าระดับปริญญาโทประมาณสองหมื่นต้นๆ ย้ำไม่ได้เป็นแสนอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ
2. งานที่ทำก็ต้องทำทุกวันตลอดสัปดาห์ คือจันทร์ถึงอาทิตย์เลย ไม่มีวันหยุดราชการเสาร์ อาทิตย์ เพียงแต่ว่าวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ก็ทำงานถึงประมาณ 11 โมงเช้าหรือเที่ยงๆ ถ้าไม่ได้อยู่เวร
3. ถ้านับเวลาทำงานในวันราชการตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ประมาณ 10 ชั่วโมงต่อวัน วันหยุดก็ 4 ชั่วโมงต่อวัน รวม 1 เดือนก็ประมาณ 250 ชั่วโมงต่อเดือน ก็ตกชั่วโมงละ 100 บาท ย้ำว่า 100 บาทเท่านั้นเท่าๆ กับค่าคาราโอเกะ
4. การอยู่เวรนอกเวลาราชการก็เริ่มตั้งแต่ 16.30-เช้า แต่บางโรงพยาบาลก็แบ่งเป็น 2 ผลัด คือ 16.30-24.00 น. และหลังเที่ยงคืนถึงเช้า แต่ส่วนใหญ่อยู่ถึงเช้าเลย บางที่รับผิดชอบเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน บางที่รับผิดชอบทั้งผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยหนักในหอผู้ป่วย ถ้าเป็นวันหยุดก็อยู่เวรตั้งแต่ประมาณ 10.00 ถึง เช้าวันใหม่ บางโรงพยาบาลก็แบ่งเป็น 2 หรือ 3 ผลัด แต่ส่วนใหญ่ไม่แบ่งผลัด ขึ้นกับระบบหรือจำนวนแพทย์ในแต่ละโรงพยาบาล เดือนหนึ่งก็อยู่เวรประมาณ 10-12 เวร ค่าเวรก็แล้วแต่โรงพยาบาล ถ้าเป็นโรงเรียนแพทย์ก็เป็นเวรเหมาจ่าย ประมาณ 5 ถึง 6 พันบาท เฉลี่ยค่าเวรก็ประมาณวันละ 500 บาท หรือชั่วโมงละ 30-40 บาท พอทานอาหารจานเดียวที่โรงอาหารได้พอดี ซื้อกาแฟก็ยังไม่พอเลยครับ
5. การทำงานมีความรับผิดชอบต่อชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้างานไม่เสร็จก็ไม่ได้ทานข้าว จึงทำให้แพทย์แทบไม่เคยทานข้าวเช้า ส่วนข้าวกลางวัน เย็น ไม่ค่อยตรงเวลา แพทย์ส่วนมากจึงเป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน มีความเครียดสูง
6. การนอนหลับแทบไม่เคยหลับได้ต่อเนื่องเป็นชั่วโมงเลย ซึ่งก็ถือว่าดวงดีมากแล้วที่ได้นอนบ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้วต้องถูกตามดูคนไข้อาการหนักตลอดเวลา ยิ่งดึกก็ยิ่งยุ่ง แทบไม่ได้นอนเลย
7. ความอึด และความอดทนของแพทย์ต้องเป็นเลิศ เพราะต้องสามารถทำงานต่อเนื่องได้ประมาณ 36-40 ชั่วโมงได้โดยไม่ต้องนอน จึงถูกขนานนามว่า “อึดเป็นควาย สมองเป็นคน”
8. เจ็บป่วยสามารถลาได้ แต่ก็มักไม่ได้ลา เพราะไม่มีแพทย์คนอื่นๆ ทำงานแทนได้ในหน้าที่เดียวกัน จึงเห็นแพทย์ที่ไม่สบายมาทำงาน บางคนสายน้ำเกลือติดตัวมาด้วย ภาพที่เห็นในโซเชียลคือภาพจริงๆ ที่พบเห็นได้ ตัวเองป่วยก็ไม่ทุกข์ใจเท่ากับพ่อ แม่ป่วย แต่แพทย์ไม่สามารถลาไปเฝ้าดูแลพ่อ แม่ได้ หรือบางครั้งภรรยาคลอดลูกก็ไม่ได้ไปให้กำลังใจ ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ มันคือความจริงที่เศร้าใจ
9. วันลาพักร้อนก็มีเหมือนอาชีพอื่นๆ แต่ก็ไม่เคยได้ลา เพราะไม่มีใครทำงานแทนเราได้ จึงมีวันลาสะสมเยอะมาก ไม่รู้ว่าจะดีใจ หรือเสียใจกันแน่
10. งานอะไรอะไรที่ไม่มีใครทำก็เป็นหน้าที่ของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เหตุผลเหรอ ก็จะได้ประสบการณ์มากๆ ต้องเสียสละ พี่ๆ ก็เคยเจอแบบนี้มาทั้งนั้น น้องๆ ก็ต้องเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ดังนั้นใครที่อยากเป็นหมอจริงๆ เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง ใจรัก เสียสละ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ผมสนับสนุนให้รีบมาเรียนหมอเลยครับ แต่ถ้าใครอยากเรียนเพราะเห็นว่าหมองานสบาย เงินดี หรือเพราะเรียนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ใจไม่รัก ร่างกายไม่แข็งแรงพอ อย่ามาเรียนเลยครับ เพราะจะไม่มีความสุขเลย” รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 2444 views