แยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวกระทบโรงพยาบาลชุมชนแน่ ผอ.รพ.ตากใบ หวั่น จ้างคนเพิ่มไม่ไหว แพทย์สมองไหล กระทบบริการชาวบ้าน ชี้ต้องยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลักก่อนแก้กฎหมาย

นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต

นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กรณีการแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวว่า หากมีการแยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวจริง ผู้ที่ได้เปรียบก็คือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ส่วนโรงพยาบาลขนาดเล็ก โดยเฉพาะโรงพยาบาลตามชนบทนั้นจะเสียเปรียบ เนื่องจากมีจำนวนประชากรเยอะ แต่มีข้าราชการน้อย

นพ.สมชาย กล่าวว่า หลักการเดิมก็คือต้องการปฏิรูประบบสาธารณสุขในเรื่องของบุคลากร เพราะที่ผ่านมาเข้าข่ายมือใครยาวสาวได้สาวเอา ฉะนั้นก็ปฏิรูปก็คือพื้นที่ที่ต้องดูแลประชากรมากๆ ก็จำเป็นต้องให้เงินมากๆ เพื่อไปจ้างบุคลากรเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อการดูแลประชาชน

"ทุกวันนี้แม้ว่าหลักการในกฎหมายดี แต่ก็มีการเอาเปรียบโรงพยาบาลชุมชนมากมายมหาศาล เช่น ผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน เวลาไปเรียนต่อก็มีการหักเงินเดือนจากโรงพยาบาลชุมชน หรืออย่างหมอใหม่ เมื่อเห็นว่าตำแหน่งในโรงพยาบาลชุมชนว่างก็มาเอาตำแหน่งในโรงพยาบาลชุมชน แต่ตัวไปทำงานอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไป แต่เวลาหักเงินเดือนก็หักจากโรงพยาบาลชุมชน" นพ.สมชาย กล่าว

นพ.สมชาย กล่าวว่า หากมีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ประการแรกก็คือโรงพยาบาลชุมชนที่บุคลากรน้อยจะต้องรับภาระในการจ้างบุคลากรเพิ่มเติมเอง ประการต่อมาก็คือจำนวนรายหัวก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ในขณะที่โรงพยาบาลทั่วไปนอกจากได้เงินจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แล้ว เขายังได้งบประมาณค่าก่อสร้าง ค่าเครื่องมือ ฯลฯ มากไปกว่านั้นก็คือเมื่อโรงพยาบาลชุมชนส่งคนไข้ต่อไปยังโรงพยาบาลเหล่านั้น ก็ยังต้องตามไปจ่ายเงินให้ด้วย ยังไม่รวมถึงเงินจากระบบประกันสังคม และข้าราชการอีก นั่นหมายความว่าหากแยกเงินเดือนออกจริงก็จะกลับสู่สถานการณ์เมื่อ 15 ปี ก่อนหน้านี้ ถือเป็นความถอยหลัง

"เมื่อแยกเงินเดือนออก เงินก็จะหายไป งบประมาณหายไป การจ้างคนก็ทำไม่ได้ ระบบการบริการก็จะได้รับผลกระทบทันที อีกประเด็นก็คือเงินรายหัวจะเท่ากันหมด ทั้งที่จากเดิมที่ไหนคนเยอะแต่มีข้าราชการน้อยก็จะได้ค่าหัวเยอะ ชนบทก็จะเสียเปรียบเมือง ความเหลื่อมล้ำก็จะเกิดขึ้นตามมา" นพ.สมชาย กล่าว

นพ.สมชาย กล่าวต่อว่า เรื่องการแก้กฎหมายครั้งนี้ พูดง่ายๆ ก็คือที่โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปสนับสนุนก็เพราะเขาได้ประโยชน์ คนที่ต่อต้านก็คือโรงพยาบาลตามชนบท ก็มักจะถูกกล่าวหาว่าคุยแต่เรื่องผลประโยชน์ จริงๆ เรื่องนี้ต้องคุยกันในเรื่องของหลักการ คือต้องมองว่าผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ได้อะไร คือเมื่อคุณแยกเงินเดือนออกไปแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร จะได้ไม่ต้องมานั่งเถียงกัน

"คุณต้องยึดประชาชนเป็นหลักก่อนแล้วค่อยมาดูเรื่องนี้ คือเมื่อคุณแยกเงินเดือนไปแล้วปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่รอบนอกนี้เสียประโยชน์ โรงพยาบาลที่อยู่นอกๆ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะได้รับงบประมาณหลักมาจากค่าเหมาจ่ายรายหัวทางเดียวมีปัญหา คนที่อยู่ชนบทก็ยิ่งแย่ หมอก็ยิ่งไม่อยากมาอยู่ชนบท เงินก็ไม่มี ค่าตอบแทนลำบาก ทุกอย่างก็ไหลเข้าไปในเมือง ก็กลายเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันมาก" นพ.สมชาย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอเจษฎา’ หนุนแก้ กม.บัตรทอง ชี้ควรปรับการใช้งบป้องกันโรค ดูแลบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ

นักวิชาการแนะนับหนึ่งใหม่แก้ กม.บัตรทอง

สธ.แจงเหตุขอแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว

สสจ.สิงห์บุรี เผยแก้ กม.บัตรทองคือทางออก แยกเงินเดือน ช่วย รพ.พ้นวิกฤตการเงิน

ประธาน สพศท.ชี้ปมเห็นต่างแก้ กม.บัตรทอง ต่อให้นับ 1 ใหม่จนถึง 10 ก็ไม่จบ หากมีมุมมองแบ่งฝ่าย

ประธานชมรม รพศ./รพท.ชี้ แก้ กม.บัตรทอง ควรยึดหลัก ปชช.ไม่เสียสิทธิ รพ.อยู่ได้

รพ.พระนั่งเกล้าหนุนแก้ กม.บัตรทอง เห็นด้วยแยกเงินเดือนจากงบรายหัว

อดีต ผอ.รพ.พรานกระต่ายชี้ปมแยกเงินเดือนจากงบรายหัว กระทบ รพ.ที่จ้างบุคลากรนอกงบประมาณ

‘ผอ.รพ.รามัน’ ขวางแยกเงินเดือนบุคลากร หวั่นกระทบ รพ.ขนาดเล็ก-ประชาชน

'รพ.สิงห์บุรี' ย้ำลดต้นทุนทุกวิธีแต่ยังเอาไม่อยู่ เชื่อแยกเงินเดือนช่วยได้มาก

ผอ.รพ.ประจวบฯ ชี้ผูกเงินเดือนกับงบรายหัว หลักคิดดีแต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้

‘ผอ.รพ.บ้านแพ้ว’ ชี้ ข้อดี-ข้อเสียแยกเงินเดือนจากงบรายหัวบัตรทอง