กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รับการประเมินสมรรถนะของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (IHR 2005) โดยใช้เครื่องมือ Joint External Evaluation (JEE) ผลการประเมินประเทศไทยผ่านสมรรถนะตามข้อกำหนด
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่องค์การอนามัยโลกส่งทีมประเมินสมรรถนะของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (IHR 2005) ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 26–30 มิถุนายน 2560 โดยมี นพ.เดเนียน เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.นิรมอล แคนเดล หัวหน้าทีมประเมิน JEE และ IHR จากองค์การอนามัยโลกระดับภูมิภาค
ส่วนประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดการประชุมเพื่อรับการประเมิน พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข และ พญ.พจมาน ศิริอารยาภรณ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุมเพื่อรับการประเมินสมรรถนะของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกตาม Joint External Evaluation
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 มาตั้งแต่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 โดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมตามภารกิจ ความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานภายใต้แผนพัฒนาด้านกฎอนามัยระหว่างประเทศ ปัจจุบันกำลังดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนางานด้านกฎอนามัยระหว่างประเทศ สำหรับช่วงปี พ.ศ.2560–2564
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีโครงการฝึกอบรมระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ซึ่งผลิตนักระบาดวิทยาไปแล้วอย่างน้อย 300 คน ซึ่งโครงการฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (2005) เนื่องจากนักระบาดวิทยาดังกล่าวเป็นตัวหลักในการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศของประเทศไทย เป็นเครือข่ายของทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ในระดับพื้นที่ และทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก ทำให้ประเทศไทยมีสมรรถนะหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ตั้งแต่ปี 2557
นพ.เจษฎา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีการดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005) ขึ้น โดยผู้ประเมินจากองค์การอนามัยโลก เพื่อรับการประเมิน 19 สมรรถนะตาม Joint External Evaluation tools ในระหว่างวันที่ 26–30 มิถุนายน 2560 นั้น ผลการประเมินสมรรถนะพบว่าประเทศไทยผ่านการประเมินสมรรถนะตามข้อกำหนด จากคะแนนเต็ม 5 ไทยมีสมรรถนะที่ยั่งยืน (ระดับคะแนน 5) 4 ตัวชี้วัด จากตัวชี้วัดทั้งหมด 48 ตัวชี้วัด มีสมรรถนะที่แสดงให้เห็นจริง (ระดับคะแนน 4) 30 ตัวชี้วัด และมีสมรรถนะที่พัฒนา (ระดับคะแนน 3) 12 ตัวชี้วัด
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสมรรถนะหลักของประเทศตามกฎอนามัยระหว่างประเทศเป็นกระบวนการพัฒนาตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงต้องทำการประเมิน รักษาให้ยั่งยืน และเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกจะต่อยอดความสำเร็จของไทยในเรื่องนี้ด้วยการสนับสนุนประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกขององค์การอนามัยโลก ให้มีสมรรถนะหลักตามที่กฎอนามัยระหว่างประเทศกำหนด
- 302 views