“กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ประกาศ “ประชาชน” พร้อมฮือลุกสู้ ปกป้อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หาก คกก.ยกร่างฯ กม.บัตรทอง เดินหน้าแก้ประเด็นขัดแย้ง พร้อมตั้งข้อสังเกต แก้ กม.ยึดหลัก ม.44 แต่กลับไม่แก้ให้อำนาจ สปสช.จัดซื้อยา ห่วงมอบ สธ.จัดซื้อยา หวั่นบทเรียนทุจริตยาในอดีต ขณะที่ชาวอีสานประชาชนเริ่มร่วมลงชื่อคัดค้านแก้ กม.บัตรทองแล้ว
ที่โรงแรมไมด้า – เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้จัดเวทีเสวนา “แก้กฎหมายบัตรทองอย่างไร ให้ประชาชนได้ประโยชน์?” โดยเป็นเวทีคู่ขนานการพิจารณาหารือเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของคณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน พร้อมกันนี้ยังได้แถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนถึงแนวทางการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ในขณะที่การแก้ไขกฎหมายบัตรทองยังดำเนินต่อไป ภายหลังการประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นแล้วนั้น เราจึงมีข้อเสนอ 3 ข้อในการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง คือ
1.หากยังมีการเดินหน้าแก้ไขกฎหมายนี้ ขอให้แก้ไขเฉพาะประเด็นที่มีความเห็นร่วมกัน หรือให้ยึดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37 /2559 เรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผ่านการกลั่นกรองและเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ได้ประโยชน์
2.ข้อเสนอแก้ไขที่ยังมีความเห็นต่างไม่ควรแก้ไขในขณะนี้ ควรให้เวลาในการพูดคุยและสร้างความเข้าใจ เพื่อหาผลสรุปที่ดีที่สุด ทั้งการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว การกำหนดให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย โดยขณะนี้มีกลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในการหาทางออก จึงไม่ควรแก้ไข และหากยังเดินหน้าในประเด็นขัดแย้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนจะจับตาและจะลุกขึ้นสู้ทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้กลายเป็นระบบอนาถา เพราะพี่น้องเราทุกคนต่างห่วงแหนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ และพร้อมที่จะลุกสู้เพื่อปกป้อง หากยังคงเดินหน้าแก้ไขประเด็นขัดแย้งนี้จึงอยากให้คิดให้ดี
3.ขอให้ตอบคำถามข้อเสนอของภาคประชาชนที่ขอให้เดินหน้าแก้ไขในมาตรา 9 และ10 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในเชิงบริหารและงบประมาณ ซึ่งตาม พ..รบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในบทเฉพาะกาลได้กำหนดให้มีการพูดคุยเพื่อรวมระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งจะเป็นทางออกการแก้ไขปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอ ระบบสุขภาพที่ไม่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม คนทุกคนอยู่ภายใต้ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว โดยขอให้รัฐบาลตอบคำถามว่าจะแก้นี้ต้องใช้เวลานานแค่ไหน
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจาก 3 ข้อข้างต้นแล้ว ยังมีข้อเสนอแก้ไขให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการจัดซื้อยาได้ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้อาศัยตามมาตรา 38 ในการจัดซื้อยามาตลอด 10 ปี ทำให้ประหยัดงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาและไม่เคยมีข้อทักท้วง แต่หลังจาก คตร.ลงมาตรวจสอบได้มีการตั้งคำถามอำนาจจัดซื้อ ภายหลังจึงต้องอาศัยอำนาจ ม.44 เพื่อให้การจัดซื้อเดินหน้าได้ ทั้งนี้หาก สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อยาได้จะเป็นโอกาสทองของบริษัทยา อย่างไรก็ตามในการแก้ไข กม.บัตรทองครั้งนี้ คือการแก้ไขตามคำสั่ง ม.44 แต่ในข้อเสนอแก้ไขกฎหมายกลับไม่มีเรื่องนี้รวมอยู่ด้วยเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา ถูกกลืนหายไปโดยความตั้งใจ และในฐานะคนทำงานด้านพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เราอยากเห็นทุกคนใช้บัตรประชาชนใบเดียวในทุกระบบ มีมาตรฐานรักษาเดียวกัน มีความเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นใคร
ทั้งนี้ขอฝากถึงคนพยายามเบี่ยงประเด็นการแก้กฎหมายว่าเราเป็นพวกได้ประโยชน์ เราไม่เคยได้ประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เราทำงานคุ้มครองสิทธิ และเรื่องการทำงานคุ้มครองสิทธิก็ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นการทำงานในเรื่องานที่เราอยากเห็น
ด้าน นางสาวบุษยา คุณากรสวัสดิ์ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปี 2542 ได้เกิดปัญหาทุจริตยาในกระทรวงสาธารณสุข สาเหตุจากการใช้อำนาจนิยมและไร้การตรวจสอบ แต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2545 และดำเนินถึงถึงปัจจุบัน การทำงานเกิดการมีส่วนร่วม มีการตรวจสอบ ทั้งการจัดซื้อยายังช่วยรัฐประหยัดเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท เรียกว่าเป็นการพลิกจากวิกฤติทุจริตยา หากเราให้อำนาจจัดซื้อยากลับไปก็จะเป็นเหมือนการตีเช็คเปล่า สธ.กลับมาบริหารเหมือนเดิม ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมามีบุคลากรในสังกัด สธ.กว่าหมื่นคน ทั้งพยาบาลและวิชาชีพต่างๆ ในสังกัดเรียกร้องการบรรจุตำแหน่ง สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่คนของตัวเอง สธ.ยังดูแลไม่ได้ และจะมาดูแลประชากร 48 ล้านคนได้อย่างไร
ส่วนในเรื่องการร่วมจ่ายนั้นมีความพยายามชงประเด็นนี้มาตลอด กรณีคนมีรายได้ไม่มาก หากเจ็บป่วยเล็กน้อยคงร่วมจ่ายได้ แต่หากต้องเจ็บป่วยด้วยโรค่าใช้จ่ายสูง อย่าง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง เราจะร่วมจ่ายอย่างไร และคงจะล้มละลายจากการรักษาเช่นดียวกับอดีต ทั้งนี้ตนเองและครอบครัวมีชีวิตรอดได้เพราะบัตรทองที่ช่วยรับภาระค่ารักษา หากมีการแก้ไขกฎหมายที่เปลี่ยนหลักการเราสู้แน่นอน เพราะไม่สู้วันนี้ วันหน้าเราก็ต้องตายเหมือนกัน และเราจะยอมให้คนใช้สิทธิข้าราชการมาตัดสินแทนคนใช้บัตรทอง 48 ล้านคนได้อย่างไร และเรื่องนี้ยังกระทบต่อผู้ใช้สิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ เพราะอย่างน้อยต้องมีคนในครอบครัวที่ใช้บัตรทองเช่นกัน
“วันนี้ภาคประชาชนขอเสนอการแก้ไขกฎหมายควบคู่ไปด้วยในการพิจารณาของ ครม.และ สนช. ซึ่งเราไม่รู้ว่าคณะกรรมการยกร่างฯ จะแก้ไขกฎหมายออกมาแบบไหน และการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำอย่างไร จะทำให้บัตรทองกลายเป็นบัตรพิการหรือไม่” น.ส.บุษยา กล่าว
นางมีนา ดวงราษี เครือข่ายผู้หญิงภาคอีสาน กล่าวว่า ในนามภาคอีสานขอยืนยันคัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทองตั้งแต่ในการพิจารณาร่างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้มาจากประชาชนกว่า 6 หมื่นคนที่ร่วมลงชื่อปี 2543 ซึ่งต้องบอกว่ามีความยากเย็นกว่าที่จะออกมาได้ แต่การแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปอย่างลวกๆ จึงขอให้ยุติการแก้ไขกฎหมายนี้ และขอให้ทบทวน 4 เวทีประชาพิจการณ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ขอให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายบัตรทองใหม่หลังเลือกตั้ง เพราะประชาชนจะได้มีส่วนร่วมมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ชาวอีสานได้มีการร่วมลงชื่อเพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมาย และขอฝากไปยังคณะกรรมการร่างกฎหมายด้วยว่า เราเป็นประชาชนที่รักกฎหมายฉบับนี้ หากยังไม่ยุติและเดินหน้า เราเองก็จะไม่ละวาง และจะติดตามให้ถึงที่สุด
ขณะที่ นางชโลม เกตุจินดา เครือข่ายผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมาโฆษกรัฐบาลบอกว่าได้มีการส่งคนไปเก็บข้อมูลคนล้มประชาพิจารณ์กฎหมายบัตรทอง ถือเป็นการข่มขู่สวัสดิภาพประชาชนจึงอยากเตือนในการใช้วาจาในฐานะโฆษก ขณะที่ รศ.ดร.วรากรณ์ ได้พูดในเวทีปรึกษาสาธารณะ ท่านบอกว่าเป็นเพียงแค่เวทีทดลอง ไม่รับฟังความเห็น จึงอยากบอกท่านว่าการรับฟังความเห็นเป็นเวทีศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่แค่เรื่องพิธีกรรม ดังนั้นขอให้ท่านให้เกียรติและให้ค่าประชาชน ซึ่งนอกจากเวทีประชาพิจารณ์แล้วยังมีเวทีรับฟังความเห็น ม.18 (13) ซึ่งขอให้ความสำคัญด้วย
- 63 views