ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านภาคใต้มีความซับซ้อนและแตกต่างทางวัฒนธรรมศาสนา จนกล่าวได้ว่า ความหลากหลายของระบบการแพทย์พื้นบ้านและหมอพื้นบ้านในพื้นที่ภาคใต้มีผลมาจากทั้งวัฒนธรรมและระบบนิเวศ
กล่าวคือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำให้เกิดความรู้ และการดำรงอยู่ของการแพทย์พื้นบ้านที่แตกต่างกันไป อีกทั้งศักยภาพของระบบการแพทย์พื้นบ้านยังสัมพันธ์กับระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ดังจะเห็นว่าหมอพื้นบ้านสามารถแสวงหาสมุนไพรจากพรรณไม้ที่ต่างกันในระบบนิเวศที่ต่างกันมาใช้รักษาโรคต่างๆ ที่คล้ายกันได้
ความรู้ของระบบการแพทย์พื้นบ้านจึงอิงอยู่กับระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่มาก หรือกล่าวได้ว่าเรื่องของระบบนิเวศ อาหาร และการดูแลรักษาสุขภาพแยกออกจากกันไม่ได้
สำหรับตำรับตำราการแพทย์พื้นบ้านภาคใต้ จากการศึกษาพบว่ามีการบันทึกเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ และตำรายารักษาอาการโรคภัยไข้เจ็บไว้แต่อดีต โดยแต่เดิมจะบันทึกหรือจารไว้ในหนังสือบุดเป็นหลัก ทั้งบุดดำและบุดขาว แต่ส่วนใหญ่จะจารไว้ในบุดขาว มีบ้างที่จารไว้ในใบลาน
หนังสือบุดคือหนังสือที่ทำด้วยกระดาษย่านปริหนา ซึ่งพับเป็นชั้นๆ ภาคกลางเรียกหนังสือชนิดนี้ว่า “สมุดไทย” หรือ “สมุดข่อย” บุดดำคือหนังสือบุดที่พื้นกระดาษเป็นสีดำแล้วจารเป็นตัวหนังสือสีขาว ส่วนบุดขาวคือหนังสือบุดที่พื้นกระดาษเป็นสีขาวแล้วจารเป็นตัวหนังสือสีดำ
ในการจารดังกล่าวนี้แต่เดิมจะใช้ตัวอักษรขอม ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษาบาลีที่สอนกันอยู่ในวัด ผู้ที่จารตำรายาด้วยตัวอักษรขอมดังกล่าวจึงได้แก่ พระภิกษุ หรือผู้ที่ผ่านการศึกษาเล่าเรียนมาจากวัด การจารหรือการเขียนด้วยตัวอักษรขอมดังกล่าวจะเขียนเป็นคำไทยท้องถิ่น เลยเรียกการเขียนภาษาลักษณะนี้ว่า ขอมไทย ต่อมาในระยะหลังจึงนิยมใช้ตัวอักษรไทยแทน แต่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เพราะความก้าวหน้าของการพิมพ์ได้ขยายตัวเข้ามาแทนที่
การบันทึกตำราการแพทย์พื้นบ้านลงในหนังสือบุดและใบลานนี้มีอยู่อย่างแพร่หลายในภาคใต้ เนื่องจากการดูแลรักษาสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ การบันทึกตำราดังกล่าวทำให้การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งการรักษาโรคภัยไข้เจ็บและการคัดลอกตำรายาของสำนักหรือของหมอที่มีชื่อเสียงไปเผยแพร่ เท่ากับเป็นการทำกุศลให้แก่เพื่อมนุษย์ ดังจะเห็นว่าในระยะหลังแม้จะมีการพิมพ์หนังสือแล้ว เจ้าภาพที่จัดงานศพหรืองานบุญต่างๆ เช่น งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่าก็นิยมพิมพ์หนังสือตำรายาแจก หรือไม่ก็ไปซื้อหนังสือตำรายาจากวัดหรือของหมอที่มีชื่อเสียงและพิมพ์หนังสือไว้จำนวนมาก เพื่อนำมาแจกญาติมิตรที่มาร่วมงาน แม้แต่วัดเมื่อจัดงานบุญต่างๆ เช่น งานฝังลูกนิมิต ก็มักจะพิมพ์หนังสือตำรายาแจกเช่นกัน
ในยุคที่ยังจารหนังสือบุดและใบลานด้วยตัวหนังสือขอม ผู้ที่จารจะต้องเป็นผู้มีความรู้ คือพระสงฆ์ หรือผู้ที่เรียนมาจากวัด การจารสมัยนั้นลูกศิษย์ของสำนักต่างๆอาจจารตำราที่ตนเรียนไว้ หรือผู้ที่สนใจอาจจะไปขอลอกตำรายาต่างๆ มาใช้ประโยชน์หรือเผยแพร่ ซึ่งจะลอกมามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสนใจ
ดังนั้นตำรายาที่แพร่หลายอยู่จะมีทั้งเป็นตำราทั้งหมดของสำนักใดสำนักหนึ่ง หรือของหมอตระกูลใดตระกูลหนึ่งหรืออาจจะเป็นตำราเพียงบางส่วนที่ถูกคัดลอกมา และบางครั้งก็อาจเป็นตำราที่รวบรวมมาจากหลายสำนักตามความสนใจของคนคัดลอก ตำราการแพทย์พื้นบ้านในส่วนที่จารหรือเขียนด้วยตัวอักษรขอมนี้ยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน บางส่วนก็ชำรุดเสียหาย บางส่วนสถาบันทางวิชาการนำไปรวบรวมเก็บรักษาไว้และหาทางแปลออกมาเป็นภาษาไทยปัจจุบัน แต่ก็ยังทำได้ไม่มากนัก
สถาบันทางวิชาการที่รวบรวมตำราดังกล่าวไว้มาก ได้แก่ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง เป็นต้น และยังมีหลงเหลืออยู่ตามวัดและตามบ้านต่างๆ ที่ยังไม่ได้นำมาศึกษาอีกมาก
การจารตำรายาลงในหนังสือบุดและใบลานด้วยตัวอักษรขอมในพื้นที่ภาคใต้ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ต่อรัชกาลที่ 5 พัฒนาการการพิมพ์หนังสือขยายตัวมากขึ้น และขยายตัวลงมายังภาคใต้หลังจากที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯไม่นาน ประกอบกับการศึกษาตามแบบกรุงเทพฯได้ขยายตัวลงมาในภาคใต้มากขึ้น จึงมีผู้รู้หนังสือไทยมากขึ้นทำให้มีการนำตำราการแพทย์ที่เคยเขียนด้วยตัวหนังสือขอมมาถอดความเป็นภาษาไทยและพิมพ์จำหน่าย โดยการถอดความเป็นภาษาไทยนี้มีทั้งที่ถอดเป็นสำเนียงท้องถิ่นและที่ถอดเป็นสำเนียงภาษาภาคกลาง
การคัดลอกตำราการแพทย์พื้นบ้านออกมาเป็นตัวหนังสือไทยเพื่อจัดพิมพ์จำหน่ายนี้ มีทั้งคัดลอกตำราการแพทย์ของสำนักใดสำนักหนึ่งหรือของหมอคนใดคนหนึ่งมาโดยเฉพาะ การคัดลอกมาเพียงบางส่วน และการคัดลอกจากหลายๆ ตำรามาประกอบกัน ความนิยมของประชาชนในการซื้อหาตำรายามาไว้ที่บ้านมีมากพอสมควรเพราะสมัยนั้นยังไม่มีการแพทย์สมัยใหม่ ดังจะเห็นว่าแม้งานวัดต่างๆ ยังมีผู้ไปตั้งแผงขายหนังสือ และหนังสือประเภทหนึ่งที่ขายดีคือตำราแพทย์พื้นบ้าน
สมัยนั้นการคัดลอกตำรายามาจัดพิมพ์เป็นไปอย่างแพร่หลาย โดยเจ้าของตำรายาเดิมก็ไม่หวงเมื่อมีผู้มาขอคัดลอก เพียงแต่ขอให้บอกด้วยว่าคัดลอกมาจากตำรายาของใครหรือของสำนักใด รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยบันทึกตำรายาของตนไว้ในยุคนี้ก็มีการบันทึกเพิ่มเติมเพื่อการพิมพ์เผยแพร่ด้วย ในยุคที่การพิมพ์แพร่หลายนี้การเขียนในหนังสือบุดและใบลานเสื่อมความนิยมลง มีการเปลี่ยนเป็นการเขียนด้วยตัวอักษรไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
กล่าวได้ว่า ในภาคใต้การบันทึกตำรายาในสมัยก่อนยังมีลักษณะเฉพาะประการหนึ่งคือหมอพื้นบ้านบางคนหรือบางสำนักจะซ่อนปริศนาในตำรายาของตนบางส่วนไว้ เพื่อไม่ให้ใครเรียนรู้ได้โดยง่าย อย่างน้อยก็ต้องเรียนรู้กับเจ้าของตำรายาหรือกับลูกศิษย์ลูกหา โดยส่วนที่ซ่อนไว้นี้คือชื่อสมุนไพร โดยจะไม่บอกชื่อสมุนไพรที่ชาวบ้านรู้จักกันทั่วไป แต่จะแต่งชื่อบางชื่อใช้เรียกแทน โดยในตำรายาจะใช้ชื่อที่เรียกแทนนี้ไม่ใช้ชื่อที่ชาวบ้านรู้จัก
ชื่อที่แต่งไว้เรียกแทนนี้หมอพื้นบ้านจะเรียกกันว่า คำอรรถ เช่น หัวร้อยรู ใช้คำอรรถว่า กระเช้าผีมดหญ้างวงช้าง ใช้คำอรรถว่า กินน้ำกับบอก รากกระเทียม ใช้คำอรรถว่า หมอยนางชี หญ้าปราบดิน ใช้คำอรรถว่า โด่ไม่รู้ล้ม บานไม่รู้โรย ใช้คำอรรถว่า ดอกสามเดือน อย่างไรก็ตาม จะพบว่าการแต่งคำอรรถขึ้นใช้เรียกชื่อสมุนไพรแทนชื่อสามัญนั้นเจ้าของตำรายาก็ไม่ได้แต่งแบบนึกชื่ออะไรขึ้นมาก็ได้ แต่จะใช้คุณลักษณะของสมุนไพรนั้นเองในการคิดหาชื่อเรียกแทน เช่น เรียกแห้วหมู ว่า ไชใต้ดิน ก็เนื่องจากหัวแห้วหมูอยู่ใต้ดิน เรียกรากกระเทียม ว่า หมอยนางชี เพราะรากกระเทียมมีลักษณะเป็นเส้นฝอย เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการนำตำราการแพทย์พื้นบ้านออกพิมพ์เผยแพร่มีทั้งรายที่ยังคงคำอรรถไว้และรายที่เปลี่ยนคำอรรถมาเป็นคำพื้นบ้านที่ชาวบ้านรู้จักกันดีแล้ว ในตำราการแพทย์ทั้งที่จารในหนังสือบุดและใบลานและทั้งที่พิมพ์เผยแพร่แล้วจะมีลักษณะคล้ายกัน คือเริ่มต้นด้วยการบอกชื่อโรค จากนั้นก็บอกอาการ แล้วก็จะบอกถึงตัวยาและการใช้ตัวยาดังกล่าว
อีกทั้งในยุคที่มีการพิมพ์แพร่หลายและมีความสนใจในตำราการแพทย์พื้นบ้านมากดังกล่าวมามักมีการส่งตำราแพทย์พื้นบ้านที่จัดพิมพ์ในกรุงเทพฯ มาขายในภาคใต้ด้วย ตำราที่เป็นที่รู้จักกันดี คือตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ทำให้หมอพื้นบ้านได้ศึกษาจากตำราดังกล่าวเพิ่มเติม ทำให้วิชาความรู้ของหมอพื้นบ้านกว้างขวางขึ้น ทำให้ปัจจุบันยังมีตำราการแพทย์พื้นบ้านเหลืออยู่อีกมาก ซึ่งมีทั้งที่เก็บอยู่ที่วัดที่บ้านหมอพื้นบ้าน หรือที่บ้านชาวบ้านบางส่วน แต่จะมีมากในสถาบันวิชาการที่ได้รวบรวมตำราจากที่ต่างๆ มาไว้ และตำราดังกล่าวมีทั้งที่บันทึกเป็นตัวอักษรขอมและที่เป็นภาษาไทยกลาง
เก็บความจาก
สำนักวิชาการ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.รายงานการสาธารณสุขไทย ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 .2553
ขอบคุณรูปภาพจาก:
http://www.rimkhobfabooks.com/978-974-342-492-2
- 7148 views