การแพทย์พื้นบ้านของกัมพูชาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน และยังถูกบรรจุไว้ในระบบสุขภาพแห่งชาติเช่นเดียวกับระบบการแพทย์แผนตะวันตก เนื่องด้วยความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยในวัฒนธรรมกัมพูชา ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และสิ่งเหนือธรรมชาติล้วนมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ระบบความเชื่อและวิถีชีวิตประจำวันของคนกัมพูชามายาวนานตั้งแต่อดีต ทั้งในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น ปิตีเรียบกา(Pitee Reab Kar) หรือพิธีแต่งงาน ปิตีบุญสลับ (Pitee Bun Sarub) หรือพิธีศพ เป็นต้น
การแพทย์พื้นบ้านกัมพูชาได้อธิบายสาเหตุของความเจ็บป่วยว่ามีที่มาจาก 4 สาเหตุด้วยกัน คือ
1.เกิดจากความไม่สมดุลของร่างกายตามธรรมชาติ เช่น ความไม่สมดุลของความร้อน-เย็นในร่างกายของผู้หญิงหลังคลอดเพราะต้องสูญเสียเลือดไปจำนวนมาก ทำให้ร่างกายมีความเย็นมากกว่าความร้อน หญิงหลังคลอดจึงจำเป็นต้องอยู่ไฟเพื่อฟื้นคืนความสมดุลนี้
2.เกิดจากการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติหรือความเชื่อเรื่องผีต่างๆ เช่น เมไปร (Ma Prye) หรือเจ้าป่าผู้คอยพิทักษ์ป่า เนี้ยะตา (Nek Tar) หรือผีบรรพบุรุษ อาบ (Arb ) หรือผีกระสือ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นผีชนิดไหนหากใครลบหลู่ดูหมิ่น ผีเหล่านี้มีอำนาจทำให้ผู้นั้นเจ็บป่วยได้ทั้งสิ้น
3.เกิดจากการละเมิดข้อกำหนดพื้นฐานต่างๆ ในการดำรงชีวิต เช่น หนุ่มสาวลักลอบมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงานหรือผิดเม-บา (Ma-Ba) ก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยแก่ผู้นั้นหรือบุคคลในครอบครัวได้ และวิธีการรักษาความเจ็บป่วยนี้ก็ต้องทำพิธีขอขมาต่อเม-บาเท่านั้น
4.เกิดจากกรรมเก่าที่มีติดตัวมาตั้งแต่ชาติปางก่อน การรักษาความเจ็บป่วยจึงต้องใช้โหราศาสตร์ในการตรวจสอบดวงชะตาของผู้ป่วย และมักต้องใช้พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ด้วย
องค์ความรู้ของการแพทย์พื้นบ้านกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากหลายแหล่ง ทั้งจากการแพทย์อินเดียผ่านศาสนาพุทธและพราหมณ์ เช่น ความเชื่อ ประเพณี ยาสมุนไพร จากการแพทย์จีนเนื่องจากการค้าขายกับจีนมายาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 เช่น ยาสมุนไพร การฝังเข็ม การใช้เหรียญขูดผิวหนัง จากศาสนาอิสลาม เช่น ยาสมุนไพร การฟื้นคืนพลัง รวมทั้งจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของกัมพูชาเอง เช่น ยาสมุนไพร การร่ายรำ การติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
และเนื่องจากความเชื่อเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยในวัฒนธรรมกัมพูชามีความหลากหลาย จึงทำให้ผู้เยียวยาในระบบการแพทย์พื้นบ้านกัมพูชาหรือ ครู (Kru) จำเป็นต้องมีความสามารถเฉพาะด้านในการรักษาหลากหลายแบบเช่นกัน กล่าวคือ
ครูขแมร์ (Kru Khmer) หรือแพทย์พื้นบ้านที่มีความสามารถในการใช้ทั้งคาถาอาคม สมุนไพร ในการเยียวยาความเจ็บป่วย รวมทั้งหัตถการอื่นๆ เช่น การใส่เฝือกไม้
ครูเตย (Kru Teai) แพทย์พื้นบ้านที่ใช้ความสามารถในทางโหราศาสตร์เพื่อเยียวยาความเจ็บป่วยโดยไม่ต้องใช้ยาสมุนไพร
ชาหมอบโบราณ (Chhmob Boran) หรือหมอตำแยที่มีความสามารถในการทำคลอดแบบพื้นบ้าน เป็นต้น
โดยชาวกัมพูชาต่างมีความเชื่อว่า การที่จะเป็น “ครู” ประเภทต่างๆ ในระบบการแพทย์พื้นบ้านกัมพูชาได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลพิเศษที่ได้รับเลือกจากสิ่งศักดิ์สิทธิหรืออำนาจเหนือธรรมชาติเท่านั้นจึงจะสามารถดำรงตนเป็นผู้เยียวยาได้
สำหรับการคลอดและการดูแลหลังคลอดในสังคมกัมพูชานั้น ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของหมอตำแยหรือผดุงครรภ์แผนปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติ การป้องกันวิญญาณร้าย และการควบคุมสมดุลร้อน-เย็นในร่างกายผ่านอาหารและวิถีชีวิต ซึ่งการคลอดในสังคมกัมพูชาถึอเป็นเรื่องสำคัญมากเป็นพิเศษ ดังนั้นความเชื่อและภูมิปัญญาในการคลอดและการดูแลหลังคลอดจึงเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลายาวนาน โดยมีความเชื่อหลักๆ อยู่ 3 ประการ ได้แก่
1.ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ กล่าวคือ มีข้อห้ามขณะตั้งครรภ์มากมาย เช่น ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามกินของเผ็ด ห้ามฟังเรื่องผี ห้ามนอนกลางวัน ห้ามอาบน้ำตอนกลางคืน ห้ามถามทุกข์สุขคนที่คลอดลูกยาก นอกจากนี้ช่วงเวลาของการคลอดและหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำพิธีเพื่อขอให้เทวดาช่วยคุ้มครองรักษาแม่และลูก และเพื่อป้องกันผีร้ายที่จะมาทำอันตราย พิธีที่ต้องทำ เช่น พิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ ขอบคุณที่คุ้มครองให้การคลอดปลอดภัย พิธีขอบคุณหมอตำแยซึ่งเป็นผู้ที่ต้องเสี่ยงอันตรายสัมผัสเลือดที่ไม่บริสุทธิ์จากการคลอด เป็นต้น
2.การควบคุมสมดุลร้อน- เย็น ซึ่งมีความสำคัญมากในการดูแลผู้หญิงทั้งก่อนคลอดและหลังคลอดเพราะ
ต้องสูญเสียเลือดไปจำนวนมากทำให้ร่างกายมีความเย็นมากกว่าความร้อน จึงต้องมีการควบคุมอาหารและวิถีปฎิบัติต่างๆเพื่อสร้างความร้อนให้ร่างกาย เช่น อังเพลิง ประคบร้อนด้วยหินเผาไฟห่อผ้าวางบนท้อง ดื่มเหล้าสมุนไพร ขัดผิว อาบน้ำร้อน ใส่ถุงเท้า เป็นต้น
3.ความเชื่อเรื่อง ตั๊ว (Toas) หรือภาวะแทรกซ้อนหลังการคลอดที่มีสาเหตุมาจากการปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดต่างๆ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง ใจสั่น ไม่มีแรง ไปจนถึงเสียสติ เช่น ตั๊วชำไน (Toas Cham Ney) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เกิดจากการกินผักต้องห้ามในกลุ่มเย็นประเภท ฟัก แตงกวา ผักบุ้ง หรือผลไม้ประเภทขนุน ทุเรียน สับปะรด กล้วยหอม อาหารรสเปรี้ยว และอาหารทะเล เพราะจะทำให้เกิดอาการเต้านมคัด อาเจียน เวียนหัว ท้องเสีย ตั๊วซาไซ (Toas Sasai) เกิดจากการทำงานหนักหลังคลอดเร็วเกินไป มีอาการจุกแน่น ไม่มีแรง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือ ตั๊วอันเสิม (Toas Ansarm) เกิดจากการโดนฝนหรือน้ำค้าง มีอาการชาตามมือ ชาตามเท้า ตัวเย็น นอนไม่ได้ เป็นต้น
การรักษาตั๊วแต่ละชนิดมีตั้งแต่การใช้ยาสมุนไพร การทำพิธีขอขมาผีปู่ตาไปจนถึงการดื่มน้ำผสมเถ้าที่ได้จากการเผาเส้นผมของสามี และการดื่มน้ำแช่อวัยวะเพศสามี
ความเชื่อของการแพทย์พื้นบ้านในวัฒนธรรมกัมพูชา โดยเฉพาะการคลอดและการดูแลหลังคลอดนับเป็นสิ่งยืนยันถึงพลังของการเยียวยารักษาชีวิตมนุษย์ที่หลากหลายผ่านมิติทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ และกล่าวได้ว่าการแพทย์พื้นบ้านของกัมพูชาได้ให้ความสำคัญกับมิติทางด้านจิตวิญญาณและสังคมไม่น้อยไปกว่ามิติทางกาย ซึ่งแตกต่างจากการแพทย์แผนตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในกัมพูชาตั้งแต่ยุคอาณานิคมเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย
เก็บความจาก
บุษบงก์ วิเศษพลชัย. “การแพทย์พื้นบ้านและการคลอดในวิถีพื้นบ้านที่สีหนุวิลล์ กัมพูชา” ใน วัฒนธรรมสุขภาพในสังคมอาเซียน. นนทบุรี: สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.), 2558, หน้า 133-139.
ขอบคุณภาพจาก
http://www.thejakartaglobe.com/international/cambodias-khmer-healers-get-schooled-in-ancient-art/
- 740 views